ปักหมุดท่าเรือชุมพร - ระนอง บิ๊กโปรเจกต์ประตูการค้า 'แลนด์บริดจ์'

ปักหมุดท่าเรือชุมพร - ระนอง บิ๊กโปรเจกต์ประตูการค้า 'แลนด์บริดจ์'

โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” อีกหนึ่งบิ๊กโปรเจกต์ที่ขณะนี้รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญเชิญชวนนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วม เพื่อสร้างเป็นจุดขายใหม่ด้านการลงทุนของประเทศไทย

โดย "แลนด์บริดจ์" มีจุดแข็งในด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ซึ่งเปรียบเสมือนประตูการค้าเชื่อมต่อระหว่างเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยอาศัยการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทย อันดามัน มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก

อีกทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการให้กระทรวงคมนาคมเดินหน้าศึกษาต่อ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เดินสายโรดโชว์เพื่อจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมประเดิมโปรโมทแลนด์บริดจ์โดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ประกาศเชิญชวนนักลงทุนจีน เมื่อครั้งเยือนจีนและร่วมประชุม Belt and Road for International Cooperation (BRF) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2566 ณ กรุงปักกิ่ง

โดยนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยถึงเป้าหมายของการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ว่า การสร้างโครงการดังกล่าวจะลดเวลาการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด “One Port, Two Sides” ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตร ทางภาคใต้ของไทยเชื่อมต่อผ่านจังหวัดชุมพร และระนอง ซึ่งโครงการนี้จะทำงานร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานของ Belt and Road Initiative หรือ “BRI” ของจีน และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงในระดับโลกได้

สำหรับปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ระหว่างการศึกษา โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องพัฒนา วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น

- โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท

- โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท

- โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท

- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการสำคัญที่จะเป็นเสมือนประตูการค้า ทำหน้าที่รองรับการขนส่งและการเดินเรือเชื่อมต่อทางทะเลต่างๆ ทั่วโลก คือ โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร และฝั่งระนอง ซึ่งปัจจุบัน สนข.ได้ดำเนินการศึกษาที่ตั้งของการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกดังกล่าวแล้ว แบ่งออกเป็น

ท่าเรือฝั่งชุมพร

  • ตั้งอยู่ในทะเลอ่าวไทย บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
  • ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือชุมพร 2.48 กิโลเมตร

ท่าเรือฝั่งระนอง

  • ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
  • ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือระนอง 2.15 กิโลเมตร

ปักหมุดท่าเรือชุมพร - ระนอง บิ๊กโปรเจกต์ประตูการค้า \'แลนด์บริดจ์\'

นอกจากนี้เพื่อให้ประตูการค้าทั้งสองฝั่งทะเลมีศักยภาพในการขนส่งสินค้ามากขึ้น ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์จะมีการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 6 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) รองรับการขนส่งสินค้า และรางขนาด  1 เมตร เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในเส้นทางรถไฟสายอื่นๆ ภายในประเทศ

โดยทั้งสองโครงการนี้ เป็นเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ที่อยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองควบคู่กับระบบราง (MR-MAP) มีระยะทาง 89.35 กิโลเมตร แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง และ อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร

ปักหมุดท่าเรือชุมพร - ระนอง บิ๊กโปรเจกต์ประตูการค้า \'แลนด์บริดจ์\'

ทั้งนี้ สนข.ยังศึกษาโมเดลที่คาดการณ์ได้ว่าจะมีตู้สินค้าใช้บริการผ่านโครงการแลนด์บริดจ์รวมสูงถึง 33.2 ล้านทีอียู แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง รวมประมาณ 19.4 ล้านทีอียู และท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 13.8 ล้านทีอียู ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1. สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ฝั่งระนอง ประมาณ 13.6 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 12.2 ล้านทีอียู

2. สินค้านำเข้า-ส่งออกของไทย ฝั่งระนอง ประมาณ 4.6 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 1.4 ล้านทีอียู

3. สินค้าจีนตอนใต้และ GMS ฝั่งระนอง ประมาณ 1.2 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 0.2 ล้านทีอียู

ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์เรียกได้ว่าขณะนี้ใกล้ถึงฝั่งฝัน เพราะภายหลังผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ให้เดินหน้าโครงการ กระทรวงคมนาคมเตรียมโรดโชว์ลงทุนโครงการนี้ในต่างประเทศตั้งแต่เดือน พ.ย.2566 จนถึงเดือน ม.ค.2567 โดยมีเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ฝรั่งเศส และเยอรมัน เป็นต้น ก่อนจะกลับมาเริ่มขั้นตอนเปิดประมูลต้นปี 2568

ขณะที่ขั้นตอนทางกฎหมาย รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดทำร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ.... เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์จะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้จะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2567

หลังจากนั้นจะมีการตั้งสำนักงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการนี้  ส่วนขั้นตอนการเวนคืนที่ดินจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.) ในโครงการจะเริ่มในเดือน ม.ค. 2568  - ธ.ค. 2569 โดยเมื่อกฎหมายและการตั้งสำนักงานเสร็จแล้ว รัฐบาลจะเริ่มเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการลงทุนจากเอกชนทั่วโลกในเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2568

จากนั้นจะเสนอ ครม.เห็นชอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลในโครงการภายในเดือน ส.ค.2568 และให้เอกชนที่ชนะการประมูลเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ก.ย.2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือน ต.ค.2573

ปักหมุดท่าเรือชุมพร - ระนอง บิ๊กโปรเจกต์ประตูการค้า \'แลนด์บริดจ์\'