ส.อ.ท.ห่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เดือน ก.ย.ร่วงยาว

ส.อ.ท.ห่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เดือน ก.ย.ร่วงยาว

ส.อ.ท. หวั่นสงครามภูมิรัฐศาสตร์กดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัวฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ร่วงต่อเนื่อง เสนอรัฐปรับลดช่องว่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก เร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานลดต้นทุนระยะยาว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนก.ย. 2566 อยู่ที่ระดับ 90.0 ปรับตัวลดลงจาก 91.3 ในเดือน ส.ค. ซึ่งปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น

โดยมีปัจจัยกดดันจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวจากกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและรายได้ภาคเกษตรที่ลดลง นอกจากนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้ารวมถึงกระทบต่อวัตถุดิบสินค้าเกษตร ขณะที่อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ยังกดทับ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจในภูมิภาค

รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทเนื่องจากเงินทุนไหลออกจากประเทศในช่วงที่ผ่านมาจากความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การส่งออกก็ไม่ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อนมากนัก เนื่องจากตลาดต่างประเทศชะลอตัว

ทั้งนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ส.อ.ท.จึงอยากเสนอให้ ธปท. และสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน ดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ รวมถึงเร่งรัดการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยเร็ว เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานของธนาคาร

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการรัฐช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนโดยการปรับลดราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และปรับลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 เป็น 3.99 บาท/หน่วย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมและค่าขนส่งลดลง สะท้อนจากดัชนีฯ ต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า รวมทั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวยังคงส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศ 

“สำหรับนโยบายการลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 มองว่าจะเป็นเรื่องดีถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และควรลดราคาน้ำมันทุกประเภท รวมทั้งทำให้เกิดความยั่งยืนด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ให้มีการจัดตั้งกรอ.พลังงาน รวมถึงการแก้กฎหมายการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนแนวทางอุตสาหกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” 

โดยจากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,324 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนกันยายน 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 84.0% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้69.5% เศรษฐกิจในประเทศ 45.6% ตามลำดับ 

ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 55.2% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 43.5% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 41.8% 

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.3 ปรับตัวลดลงจาก 99.5 ในเดือนส.ค. โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากความกังวลต่อแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอนุมัติวีซ่าฟรีชั่วคราวให้นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน เป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งคาดว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566