รฟม.ชะลอลงทุน 'รถไฟฟ้าภูมิภาค' ห่วงทำหลายโปรเจ็คกระทบจราจร

รฟม.ชะลอลงทุน 'รถไฟฟ้าภูมิภาค' ห่วงทำหลายโปรเจ็คกระทบจราจร

รฟม.ชะลอ 4 โครงการรถไฟฟ้าภูมิภาค ปรับแผนรองานก่อสร้างทางถนนให้แล้วเสร็จ ชี้หากเร่งก่อสร้างจะกระทบการจราจร คาดโครงการนำร่อง “ภูเก็ต” ดีเลย์ออกไปอีก 2 ปี

ระบบขนส่งทางรางนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเมืองใหญ่ และเมืองที่กำลังเติบโต เพราะเป็นระบบที่มีความแน่นอนเนื่่องจากมีช่องทางจราจรเป็นของตัวเอง นั่นคือ เส้นทางราง นอกจากนี้ ระบบรางเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งผู้คนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเกิดโครงการรถไฟฟ้าใน“ภูเก็ต” ซึ่งเป็นทั้งเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ  

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนภูมิภาคที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ รฟม. ขณะนี้โครงการนำร่องในจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง อยู่ระหว่างปรับแผนรอการพัฒนาโครงข่ายทางถนนให้แล้วเสร็จก่อน

เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีการดำเนินการระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจำนวนมาก ทั้งโครงการของกรมทางหลวง (ทล.) และโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งโครงการล้วนมีแนวเส้นทางดำเนินการบนทางหลวงหมายเลข 402 สายโคกกลอย-เมืองภูเก็ต หรือถนนเทพกระษัตรี เป็นทางหลวงสายหลักของจังหวัดภูเก็ต

รฟม.ชะลอลงทุน \'รถไฟฟ้าภูมิภาค\' ห่วงทำหลายโปรเจ็คกระทบจราจร

ห่วงเกิดปัญหาจราจรเพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้น ตามแนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 อยู่บน ทล.402 หากมีโครงการจำนวนมากมาดำเนินการพร้อมกันบน ทล.402 จะทำให้สร้างผลกระทบปัญหาด้านจราจรเพิ่มมากขึ้น รฟม.จึงขยับแผนโครงการออกไปก่อนเพื่อรอเวลาที่เหมาะสม และไม่กระทบปัญหาจราจร

ส่วนโครงการะบบขนส่งมวลชนในจังหวัดอื่นๆ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) จังหวัดนครราชสีมา (โคราช) สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) และจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง (มหาวิทยาลัยพิษณุโลก-เซ็นทรัลพลาซ่า) ก็อยู่ระหว่างทบทวนแผนดำเนินงาน เนื่องจากต้องรอให้โครงการนำร่องในจังหวัดภูเก็ตเริ่มดำเนินการก่อน

“ตอนนี้ทุกโครงการลงทุนระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาคต้องชะลอออกไปก่อน เพราะ รฟม.ต้องการให้การก่อสร้างโครงข่ายทางถนนแล้วเสร็จ มีเส้นทางถนนสายรองเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้เดินทาง หลังจากนั้น รฟม.จึงจะก่อสร้างโครงการระบบราง ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะทำให้ลดผลกระทบของประชาชนในการใช้ถนน และท้ายที่สุดจะเกิดประโยชน์เมื่อโครงการะบบรางแล้วเสร็จ”

รอพัฒนาทางหลวง-มอเตอร์เวย์ชัด

ทั้งนี้ รูปแบบระบบรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต เบื้องต้นศึกษาจะใช้รูปแบบแทรมล้อเหล็ก ส่วนประเด็นจุดตัดบนทางหลวงต่างๆ จะพัฒนาเป็นรูปแบบทางลอดใต้ถนนผ่านบริเวณพื้นที่ที่สำคัญ ซึ่งตอนนี้ รฟม.ต้องรอให้การพัฒนาทางหลวง และมอเตอร์เวย์ต่างๆ ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถประเมินได้ว่าต้องมีจุดตัดกี่แห่ง ซึ่งยังมีเวลาในการศึกษารายละเอียดให้รอบด้านตามกรอบกำหนด 2 ปี

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนภูมิภาคที่ รฟม. เตรียมขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมีจำนวน 4 โครงการ สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาระบบขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของกระทรวงคมนาคม ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศไทยไปจนถึงระดับภูมิภาคอาเซียน ได้แก่

1.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทางรวมประมาณ 42 กิโลเมตร โดยมีวงเงินลงทุน 35,201 ล้านบาท ผลการศึกษาเบื้องต้นจะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาชนิด Tram แบบพื้นต่ำ (Low Floor Tram) มีระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะ ซึ่งระบบขนส่งทางรางสายนี้จะมีสถานีให้บริการ 21 สถานี ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

รถไฟฟ้าจากสนามบินเข้าตัวเมือง

โดยในส่วนของแนวเส้นทางโครงการ จะเริ่มจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ไปตามทางหลวงหมายเลข 4031 (แยกศาลาแดง-แยกหมากปรก) เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4036 (แยกเหนือคลอง-แหลมกรวด) เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 402 (โคกกลอย-เมืองภูเก็ต) เพื่อเข้าเมืองภูเก็ต จากนั้นผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร ข้ามสะพานสารสิน มุ่งหน้าสถานีปลายทางท่าเรือฉลอง

2.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (สายสีแดง) ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทางประมาณ 15.8 กิโลเมตร ประเมินวงเงินลงทุน 29,523.29 ล้านบาท โดย รฟม.ศึกษาพัฒนาระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) มีสถานีให้บริการ 16 สถานี สถานะโครงการปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา

3.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา (สายสีเขียว) ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทางรวม 11.15 กิโลเมตร ประเมินวงเงินลงทุน 7,134.27 ล้านบาท โดยจะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้า (Tram) มีสถานีให้บริการ 21 สถานี และปัจจุบันสถานะโครงการอยู่ระหว่างศึกษา

และ 4.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก (สายสีแดง) ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก – ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก ระยะทางรวม 12.6 กิโลเมตร ประเมินวงเงินลงทุน 1,571.76 ล้านบาท โดยผลการศึกษาก่อนหน้านี้ รฟม.จะพัฒนาเป็นระบบรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีสถานีให้บริการ 15 สถานี และสถานะโครงการปัจจุบันยังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด