บะหมี่ฯยังโต ‘มาม่า’ ลงทุนใหญ่รอบ 20 ปี ทุ่ม 2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่

บะหมี่ฯยังโต ‘มาม่า’ ลงทุนใหญ่รอบ 20 ปี   ทุ่ม 2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่

“มาม่า” หนึ่งในกิจการใต้อาณาจักร 3 แสนล้านบาทอย่าง “เครือสหพัฒน์” และสร้างการเติบโตกว่า 50 ปี เป็น “เบอร์1” มีส่วนแบ่งทางการตลาดแข็งแกร่งเกินกว่า 50% ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน “มาม่า” ไม่เพียงแต่มุ่งสร้างการเติบโตในประเทศ แต่ยังพยายามสยายปีกสู่ตลาดโลกมากขึ้น สานเป้าหมายระยะยาว โกยขุมทรัพย์รายได้จากต่างแดนแตะ 40-50% จากสัดส่วนเดิม 30% และในประเทศ 70% เพื่อรองรับภารกิจดังกล่าวบริษัทจึงประกาศแผนลงทุนใหญ่รอบ 20 ปี เทงบกว่า 2,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตบะหมี่ฯแห่งใหม่

  • ลงทุนใหญ่ 20 ปี รองรับ “มาม่า” โตอีก 10 ปี

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนใหญ่ในรอบ 20 ปี เพื่อสร้างโรงงานผลิตบะหมี่ฯ แบรนด์มาม่าแห่งใหม่ เบื้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจเลือกพื้นที่ตั้งโรงงาน ระหว่างเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน หรือทำเลยุทธศาสตร์ที่เชื่อมเศรษฐกิจการค้าของไทยในภาคอีสาน ลุ่มแม่น้ำโขง

ทั้งนี้ โรงงานใหม่ต้องการพื้นที่ 50-60 ไร่ เพื่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องจักร 8 ตัว ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบะหมี่ฯ โดยจะยกระดับโรงงานใหม่เป็น Smart Factory ด้วย และคาดการณ์จ้างงานราว 700-800 คน

บะหมี่ฯยังโต ‘มาม่า’ ลงทุนใหญ่รอบ 20 ปี   ทุ่ม 2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่

กระบวนการผลิตบะหมี่ฯมาม่า

สำหรับโรงงานแห่งใหม่จะเพิ่มกำลังการผลิตบะหมี่ฯ ทั้งแบบซอง และแบบถ้วย (คัพ) ราว 30% ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตมาม่าทั้งสิ้น 8 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 4 แห่ง อยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กำลังการผลิต 261.53 ตัน/วัน จ.ลำพูน กำลังการผลิต 136.08 ตัน/วัน และจ.ระยอง กำลังการผลิต 94.01 ตัน/วัน และเป็นโรงงานผลิตเส้นขาว (เส้นหมี่ เส้นเล็ก) ผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ที่จ.ราชบุรี มีกำลังการผลิตรวม 60.32 ตัน/วัน

นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตบะหมี่ฯ ต่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี มีกำลังการผลิตรวม 16,044 ตัน/ปี

หากแบ่งประเภทกำลังการผลิตบะหมี่ฯแบบซองอยู่ที่ 964,320 หีบ/เดือน (1 หีบมี 180 ซอง) หรือผลิตราว 2,000 ล้านซอง/ปี กำลังการผลิตบะหมี่ฯ คัพอยู่ที่ 1,159,498 หีบ/เดือน (1 หีบมี 36 คัพ) หรือผลิตราว 500 ล้านคัพ/ปี กำลังการผลิตผลิตภัณฑ์จากข้าวอยู่ที่ 193,125 หีบ/เดือน

“โรงงานผลิตบะหมี่ฯมาม่าแห่งใหม่ ถือเป็นการลงทุนใหญ่ในรอบ 20 ปี และจะรองรับการเติบโตของยอดขายได้ราว 10 ปี”

  • หวนคืนตลาดบะหมี่ฯใน “จีน-เวียดนาม”

ด้านการทำตลาดมาม่า จากนี้ไปบริษัทให้ความสำคัญในการบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ผ่าน 2 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.เติมสินค้าใหม่สร้างความหลากหลายและแข็งแกร่งในตลาดเดิม ซึ่งปัจจุบันบริษัทส่งออกมาม่าไปจำหน่าย 68 ประเทศทั่วโลก มุ่งขยายช่องทางจำหน่ายจากร้านค้าชุมชนชาวเอเชีย ไปสู่ช่องทางหลัก ห้างค้าปลีกต่างๆมากขึ้น และ 2.นำสินค้าไปขยายตลาดประเทศใหม่ๆ เช่น การหวนคืนสู่ตลาดจีนอีกครั้งในรอบกว่า 20 ปี หลังจากได้ถอยทัพการผลิตบะหมี่ฯ และบรรจุภัณฑ์ ที่เมืองคุณหมิง และเมืองชิงเต่าของจีนราวปี 2541-2543

บะหมี่ฯยังโต ‘มาม่า’ ลงทุนใหญ่รอบ 20 ปี   ทุ่ม 2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่

ร้านอาหารอีกกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนผู้ชื่นชอบ "มาม่า"

“เราจะกลับเข้าไปทำตลาดบะหมี่ฯ ในจีนอีกครั้ง เพราะพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนเปลี่ยนไป ไม่ได้ทานมันและเผ็ดเท่านั้น อีกทั้งเวลามาเที่ยวไทยนิยมซื้อมาม่าต้มยำกุ้งกลับไป ส่วนกลยุทธ์จะใช้ KOL สร้างสรรค์คอนเทนต์ นำเสอนผ่านแพลตฟอร์ม TikTok หรือจีนเรียก Douyin ซึ่งการบุกตลาดครั้งนี้มองโอกาสจากประชากรจีนที่มีมหาศาลมากกว่าไทย 20 เท่า หากสามารถขายมาม่าให้ผู้บริโภคจีนได้เพียง 1% จะทำยอดขายแซงไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังบุกตลาดทวีปแอฟริกา ประเดิมประเทศเคนย่า หลังจากบริษัทผนึกพันธมิตรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ในการผลิตบะหมี่ฯ ให้ ระหว่างนี้จะศึกษาตลาดในพื้นที่รวมถึงพาร์ตเนอร์ เพื่อที่อนาคตอาจเข้าไปถือหุ้นในโรงงานผลิตบะหมี่ต่อไป

บริษัทยังมองตลาดอาเซียน อย่างประเทศเวียดนามด้วย หลังจากถอยทัพเมื่อปี 2542 โดยเวียดนามเป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพเติบโต แต่ยอมรับว่าแต่ละพื้นที่มีเจ้าถิ่นที่แข็งแกร่ง เข้าไปแข่งขันลำบาก เช่นเดียวกับผู้เล่นแบรนด์จากชาติอื่นจะเข้ามาไทย ต้องเจอความแข็งแกร่งของมาม่า และสนใจอินเดีย เนื่องจากตลาดใหญ่ ประชากรมหาศาล เป็นต้น

มาม่าส่งออกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เป็นสินค้าที่สอดคล้องกับการส่งเสริมครัวไทยก้าวไกลสู่ครัวโลก และจากการที่รัฐมีนโยบายผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ มาม่าจะพยายามนำแบรนด์ไปอยู่ในซีรีส์ มีการพัฒนารสชาติใหม่ให้สอดคล้องกับอาหารที่รัฐจะส่งเสริม จากปัจจุบันมาม่าต้มยำเป็นจุดขายที่ดึงดูดผู้บริโภค

บะหมี่ฯยังโต ‘มาม่า’ ลงทุนใหญ่รอบ 20 ปี   ทุ่ม 2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่

มาม่าต้มยำกุ้งพร้อมต่อยอดการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย

  • ขยายธุรกิจอาหาร ต่อยอดแบรนด์ “มาม่า”

“มาม่า” เป็นเบอร์ 1 บะหมี่ฯ มา 50 ปี แต่โจทย์ระยะยาวคือการสร้างแบรนด์ให้ครองใจผู้บริโภครุ่นใหม่ เด็กที่จะเติบโตในอนาคต เช่น 8 ขวบวันนี้ ต้องรู้จักสินค้าในวันหน้า หนึ่งในกลยุทธ์สร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และมองเห็นแบรนด์ (Brand visibility) คือการเปิดร้านอาหาร ปัจจุบันในไทยมีทั้งโมเดลมาม่า สเตชั่น ที่พันธมิตรสนใจนำมาม่าไปสร้างสรรค์เมนูอร่อย จำหน่ายในร้าน

ทว่า เดือน ธ.ค. นี้จะเห็นมาม่า สเตชั่น สาขาใหม่ที่ RCA แหล่งท่องเที่ยวยามราตรี เพื่อตอบโจทย์คอทองแดง สายปาร์ตี้ "กินมาม่า" ให้สร่างเมา และที่สำคัญร้านดังกล่าวจะเป็น "ต้นแบบ" เพื่อขยายเชิงรุกในอนาคต และยังมีร้านแซ่บ มิวเซียม 1 สาขาที่เทอร์มินอล 21 อโศก และร้านเครซี่ มาม่า บาย แซ่บ มิวเซียม สาขาไอคอนสยาม

นอกจากนี้ ยังมีการนำมาม่าไปผนึกกับร้านอาหารไทย Farmhouse Kitchen Thai Cuisine ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาเมนูอาหารร่วมกัน หรืออาจเปิดร้านโมเดลป๊อปอัพสโตร์ให้บริการลูกค้า

“ร้านอาหารมาม่าเราควรจะมีนานแล้ว เพราะช่วยให้ผู้บริโภคจดจำ รับรู้แบรนด์ แต่ยอมรับการทำธุรกิจร้านอาหารค่อนข้างยาก”

  • คนไทยบริโภคบะหมี่ฯ อันดับ 9 ของโลก

สำหรับตลาดบะหมี่ฯ ในไทยมูลค่าราว 20,000 ล้านบาท เชิงมูลค่าเติบโต 8-9% (จากการปรับขึ้นราคาสินค้าแบบซองจาก 6 บาท เป็น 7 บาท) ส่วนเชิงปริมาณทรงตัว ทั้งนี้ตลาดบะหมี่ฯ แบ่งเป็นแบบซองและคัพสัดส่วน 80% บะหมี่ฯพรีเมียม 10% เป็นต้น

บะหมี่ฯยังโต ‘มาม่า’ ลงทุนใหญ่รอบ 20 ปี   ทุ่ม 2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่

การผลิตมาม่า

ทั้งนี้ คนไทยยังคงบริโภคบะหมี่ฯเฉลี่ย 52.3 ซอง/คน/ปี สูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก มองทิศทางตลาดในอนาคตยังขยายตัวได้ เพราะหากเทียบประเทศอื่นๆ เช่นเวียดนาม เกาหลี การบริโภคเฉลี่ยสูงกว่า 70 ซอง/คน/ปี เป็นต้น

สำหรับภาพรวมยอดขายมาม่าช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 15,568.52 ล้านบาท แบ่งเป็นในประเทศ 11,306.49 ล้านบาท และต่างประเทศ 4,262.03 ล้านบาท โดยปี 2566 บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโต 4% และปี 2567 คาดการณ์เติบโต 5-7 %

อย่างไรก็ตาม ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เคยตั้งเป้ายอดขายแตะ 30,000 ล้านบาท ฉลองครบรอบ 50 ปี แต่ภาพรวมยังห่างเป้าหมาย โดยปี 2565 ยอดขายรวมบริษัทมากกว่า 27,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิกว่า 2,700 ล้านบาท

“เป้าหมายยอดขาย 30,000 ล้านบาท บริษัทยังมุ่งไปให้ถึง ซึ่งคาดว่าจะเห็นในปี 2568-2570 สอดรับนโยบายรัฐที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท”