'เจ้าสัวธนินท์' ร่วมคณะ ‘เศรษฐา’ บุกจีน นัดหารือ ‘สีจิ้นผิง’ เชื่อมสัมพันธ์

'เจ้าสัวธนินท์' ร่วมคณะ ‘เศรษฐา’ บุกจีน นัดหารือ ‘สีจิ้นผิง’ เชื่อมสัมพันธ์

“เศรษฐา” เยือนจีน ร่วมประชุม BRI หวังเพิ่มความเชื่อมั่นการค้าการลงทุนกับไทย เตรียมเข้าพบ “สีจิ้นผิง” เชื่อมความสัมพันธ์ 2 ประเทศ “เจ้าสัวธนินท์-ซีอีโอ” ร่วมคณะนายกฯ เจรจาธุรกิจ ส.อ.ท.ชี้สร้างโอกาสเจรจากับบิ๊กคอร์ปจีน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐนตรี มีกำหนดเข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และเยือนจีนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในวันที่ 16-21 ต.ค.2566

การเดินทางครั้งนี้รัฐบาลได้เชิญภาคเอกชนเข้าร่วมตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ภาคเอกชนร่วมคณะเพื่อไปเจรจาการค้าและการลงทุน โดยครั้งนี้รัฐบาลได้เชิญผู้แทนภาคเอกชนร่วม 50 คน ร่วมคณะไปด้วย โดยส่วนใหญ่ไปในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เช่น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

รวมทั้งมีบริษัทที่ทำธุรกิจร่วมกับจีนร่วมคณะ เช่น 'เจ้าสัวธนินท์' นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP), นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP (กระทิงแดง), นายชูศักดิ์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), นาย Yang Zijie บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ ประธานกรรมการบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน), นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน)

สำหรับ CP เป็นบริษัทไทยที่มีบาททำธุรกิจในจีนสูง โดยเป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่จดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เมื่อปี 2524 และในปี 2565 ธุรกิจในจีนของ CP จ้างงาน 88,798 คน

รวมทั้งเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2566 นายธนินท์ เพิ่งเข้าพบนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งนายธนินท์ ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีจีนที่จะเพิ่มการลงทุนในจีน หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศนโยบายดึงการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญภาวะชะลอตัว ซึ่ง CP มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มในปักกิ่ง 5 กลุ่มธุรกิจ คือ

1.การสร้างศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับนานาชาติ

2.การพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจร

3.การขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์

4.ธุรกิจค้าปลีก

5.การเงิน

\'เจ้าสัวธนินท์\' ร่วมคณะ ‘เศรษฐา’ บุกจีน นัดหารือ ‘สีจิ้นผิง’ เชื่อมสัมพันธ์

“เศรษฐา-สีจิ้นผิง” หารือเชื่อมสัมพันธ์

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การร่วมประชุม BRF เป็นการประชุมที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้นายกรัฐมนตรีเพิ่มความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจีนและทั่วโลกในด้านความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของไทย โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล และการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้ นายเศรษฐา มีกำหนดการพบหารือนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน รวมถึงนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทย-จีน และสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดด้านการค้าและการลงทุน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า จะมีการจัดกิจกรรม Thailand-China Investment Forum ในวันที่ 19 ต.ค.2566 โดยนายเศรษฐา จะขึ้นปาฐกถาเพื่อนำเสนอความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งจะมีผู้แทนของไทยขึ้นเวทีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นการลงทุน เช่น นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และมีผู้บริหารจากเอกชนจีนขึ้นเวทีด้วย เช่น Bank of China

นอกจากนี้ จะมีการลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ (MOU) เช่น MOU ด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPIT)

\'เจ้าสัวธนินท์\' ร่วมคณะ ‘เศรษฐา’ บุกจีน นัดหารือ ‘สีจิ้นผิง’ เชื่อมสัมพันธ์

บริษัทไทยเจรจา “อาลีบาบา-หัวเว่ย”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเดินทางไปเยือนประเทศจีนร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ด้วยเล็งเห็นว่าจีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการชักจูงมาลงทุน รวมทั้งจีนยังมีนโยบายออกมาลงทุนนอกประเทศมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้น 

โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งนักธุรกิจรายใหญ่ที่เดินทางร่วมคณะจะได้การเข้าพบนักธุรกิจของจีนกว่า 10 ราย อาทิ อาลีบาบา, เทนเซ็นต์, หัวเว่ย กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์  ธุรกิจพลังงานสะอาด และเทคคอมปานี

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจีนถือเป็นประเทศที่มี FDI ในไทยเป็นอันดับหนึ่ง และนับวันก็จะมีบทบาทในการเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น เนื่องจากปัญหาเรื่องสงครามการค้าและความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องกระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ นอกจีน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย

จีนยึดเบอร์ 1 ต่างชาติลงทุนไทย

“นักลงทุนจีนเองมีความคุ้นเคยกับประเทศไทยและคนไทย สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่จีนขึ้นมาเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่ง แม้ญี่ปุ่นจะยังเป็นประเทศที่มีการลงทุนสะสมในไทยสูงที่สุด” นายเกรียงไกร กล่าว

ทั้งนี้ จีนยังคงมีนโยบายที่จะขยายการลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน ไม่ว่าจะเป็น BYD, MG, GWM และ ฉางอัน ออโตโมบิล ต่างขยายฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ไทยยังมีโอกาสในการขยายลงทุนไปยังจีนในกลุ่มธุรกิจบริการ โรงพยาบาล และธุรกิจด้านสุขภาพ

“คาดว่าการเดินทางในครั้งนี้ที่มีนายกฯ เป็นผู้นำขบวน จะประสบความสำเร็จในการดึงเม็ดเงินลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ พลังงานสะอาด อีวี อุตฯ ไฮเทคโนโลยี” นายเกรียงไกร กล่าว

รายงานข่าวจาก BOI ระบุว่า จีนเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนเป็นอันดับ 1 ของไทย โดยการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ช่วงเดือนม.ค.-ส.ค.2566 มีมูลค่ารวม365,198 ล้านบาทในจำนวนดังกล่าวเป็นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากจีน90,346 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลค่า FDI ทั้งหมด

ไทยดึงลงทุนตามแนว Belt and Road

นายหลักชัย กิตติพล ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ไทยฮั้ว ยางพารา จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริหาร นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง กล่าวว่า การเดินทางร่วมคณะนายกรัฐมนตรีครั้งนี้จะมีการเชิญชวนนักธุรกิจเข้ามาลงทุนภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งมีหลายธุรกิจที่ประเทศไทยมีความเหมาะสม และพัฒนาพื้นที่รองรับเอาไว้อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวต้องเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว หรือเป็นอุตสาหกรรมยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีโครงสร้างพื้นฐานครบ ความเหมาะสมกับการลงทุนลักษณะดังกล่าว มีเงื่อนไขการลงทุนที่น่าสนใจต่อนักธุรกิจต่างประเทศที่น่าสนใจทั้งจีน ญี่ปุ่นและสหรัฐ 

“การเจรจากับจีนครั้งนี้จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอันดับที่2 ของโลก ในขณะที่นักธุรกิจไทยที่ร่วมเจรจาด้วย ยังพร้อมที่จะดูลู่ทางการส่งออกสินค้าในตลาดจีนเช่นกัน เพราะเป็นตลาดที่น่าสนใจและปัจจุบันไทยยังขาดดุลการค้าอยู่มาก” นายหลักชัย กล่าว