1 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ลดค่าครองชีพ - พักหนี้ - เร่งดึงลงทุน

1 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’  ลดค่าครองชีพ - พักหนี้ - เร่งดึงลงทุน

1 เดือน "รัฐบาลเศรษฐา" "พรหมมินทร์" ฉายภาพรวมบริหารเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพค่าไฟ - ดีเซล ลดค่าครองชีพ พักหนี้เกษตรกร ตั้งกรรมการแก้หนี้เอสเอ็มอี นายกฯเดินสายสร้างความเชื่อมั่น พบผู้นำต่างประเทศ - นักลงทุน เร่งแก้ปัญหาการลงทุน

การนับระยะเวลาการทำงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเพื่อไทย จะเริ่มนับจากวันที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา นับถึงปัจจุบันก็ครบระยะเวลาที่ทำงานบริหารประเทศมาแล้ว 1 เดือนเต็ม

นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะ “ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” รวมทั้ง “เมื่อเดินทางไปต่างประเทศมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเดินทางไปต่างจังหวัด ลงพื้นที่พบประชาชนมากเท่านั้น”

ทำให้โปรแกรมการทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะนั้นแน่นไปด้วยการเดินทางไปต่างประเทศ และการลงพื้นที่ต่างจังหวัดทุกสัปดาห์ และในระยะเวลา 2 – 3 เดือนก่อนสิ้นปีนี้นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการแน่น โดยมีโปรแกรมที่รออยู่ที่ได้รับการยืนยันแล้วคือ การเดินทางไปยังประเทศจีน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในการทำงานของรัฐบาล ขณะนี้รัฐบาลทำงานมาประมาณ 1 เดือน การทำงานของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจนั้นบางทีอาจเร็วเกินไป และอาจไม่สามารถอธิบายในรายละเอียดต่างๆเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมดหากมองงานแต่ละเรื่องเป็นส่วนๆที่แยกกัน

แต่สิ่งสำคัญใน "เรื่องเศรษฐกิจ" จำเป็นที่จะต้องอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นการทำงานของรัฐบาลในหลายๆส่วนที่ออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันซึ่งภาพรวมคือ การพยายามลดค่าครองชีพประชาชน แก้ปัญหาหนี้สิน และเพิ่มรายได้ให้ประเทศ

1 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’  ลดค่าครองชีพ - พักหนี้ - เร่งดึงลงทุน

เร่งลดค่าครองชีพประชาชน - พักหนี้เกษตร

ในส่วนของการลดค่าครองชีพ ทำไปแล้วคือการลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย และการลดราคาน้ำมันดีเซลให้ราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าไม่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ทำงานต่างในการลดราคาและควบคุมราคาสินค้าที่ต้นทุนสินค้าลดลง

ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้สินสิ่งที่รัฐบาลทำแล้วคือ การอนุมัติมาตรการพักหนี้เกษตรกรในส่วนที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)ซึ่งมาตรการได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 3แสนราย จากเป้าหมาย 2.7 ล้านราย ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะทยอยเข้าโครงการเพิ่มหลังจากนี้มากขึ้น

ขณะที่การพักหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไปดูรายละเอียดในส่วนนี้และอยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้

เดินสายสร้างความเชื่อมั่น - เร่งเปิดตลาดการค้า 

ส่วนการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ น.พ.พรหมมินทร์ กล่าวว่ารัฐบาลได้เร่งรัดฟื้นฟูการท่องเที่ยว โดยเร่งออกมาตรการต่างๆเช่นมาตรการวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคท่องเที่ยว และการลงไปสั่งการเรื่องของการปรับปรุงและพัฒนาสนามบินอันดามันในพื้นที่ภาคใต้เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในอนาคต

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่น สิ่งที่นายกรัฐมนตรีทำคือการเดินทางออกไปยังต่างประเทศในเวทีการประชุมระดับนานาชาติ และการพบปะกับนักธุรกิจชั้นนำระดับโลกเพื่อที่จะบอกกับ “เวทีโลก” ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว และพร้อมที่จะรองรับนักลงทุนจากทั่วโลก

ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่สหรัฐฯเมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากมีการพบกับผู้นำหลายประเทศที่เป็นสมาชิก UN รวมทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังมีการหารือกับนักธุรกิจชั้นนำเช่น อีรอน มัสก์ ซีอีโอของเทสล่า และสเปซเอ็กซ์ และพบกับผู้บริหารขององค์กรชั้นนำระดับโลก เช่น ไมโครซอฟท์ เจพี.มอร์แกน กูเกิล แบล็กล็อก โกลด์แมนแซค ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าแต่ละแห่งน่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ต่อราย

ขณะที่ในการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯอีกรอบในเดือน พ.ย.เพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปก ที่ซานฟรานซิสโก นายกรัฐมนตรี และคณะจะมีโอกาสได้พูดคุยและพบปะกับผู้นำประเทศ และซีอีโออีกหลายบริษัทเพื่อชักชวนให้มาลงทุนในประเทศ ตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าตนเองเป็น “เซลล์แมนเบอร์1 ของประเทศ” มีหน้าที่ไปสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

 

นายกฯเตรียมเข้าพบประธานาธิบดีจีน 

ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีจะไปเยือนจีนในระหว่างวันที่ 16 – 19 ต.ค.นี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนด้วย และมีกำหนดการร่วมประชุม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One belt one road) และเตรียมที่จะหารือกับนักธุรกิจรายใหญ่ของจีนหลายรายที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย

ต่อจากนั้นจะเดินทางต่อไปยังซาอุดิอาระเบียเพื่อเข้าร่วมการประชุม ASEAN-GCC Economic Cooperation (GCC) เพื่อเป็นการกระชับความร่วมมือระหว่างอาเซียน และกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ ซึ่งเป็นสหภาพที่ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ติดกันในอ่าวเปอร์เซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความต้องการนำเข้าอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการเปิดตลาดเพิ่มเติม

 

ตั้งกรรมการแก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุน 

ในด้านการแก้ไขปัญหาการลงทุนในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการด่วนให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาอุปสรรคสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจ (Ease of doing business) ในประเทศไทย โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมี ศ.พิเศษ ดร.ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองประธานกกรรมการ และมีนักกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพื่อดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

แม้ในมุมมองของรัฐบาลการทำงานใน 1 เดือนที่ผ่านมาจะมีความพึงพอใจในผลงานที่ออกมา หลายด้าน หากแต่ยังมีความท้าทายอีกมากที่รออยู่ข้างหน้าที่จะเป็นบทพิสูจน์ของรัฐบาลนี้