ส่องเศรษฐกิจ-การค้าตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก โอกาสสู่การทำเอฟทีเอ

ส่องเศรษฐกิจ-การค้าตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก  โอกาสสู่การทำเอฟทีเอ

พาณิชย์ เดินหน้าสนองนโยบายรัฐ เล็งทำเอฟทีเอกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก เปิดประตูโอกาสการค้าสู่ตลาดลาตินอเมริกา หลังผลวิเคราะห์ตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก พบ 3 สินค้าไทย ช่วงชิงแบ่งเค้กส่วนแบ่งตลาดในกลุ่ม เผยหากทำสำเร็จ ดันจีพีไทยเพิ่ม 200 ล้านดอลลาร์

ตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance : PA) 4 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ชิลี เปรู และโคลอมเบีย ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ในการที่จะเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ เพื่อหาตลาดใหม่ที่จะช่วยขยายโอกาสการค้าไทย ซึ่งกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกเป็นตลาดใหม่มีกำลังซื้อสูงในประเทศกลุ่มลาตินอเมริกา โดยกลุ่ม PA มีจีดีพีคิดเป็นสัดส่วน42.9% ของ GDP รวมของภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก  และมีประชากรกว่า 225 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต อาทิ ทองแดง ลิเทียม แร่เหล็ก รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และผลิตผลทางการเกษตร จึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความน่าสนใจสำหรับไทย

“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม “อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มองว่า แม้ที่ผ่านมา ไทยจะได้มีการจัดทำ FTA กับเปรู และชิลี และมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ปี 2554 และ 2558 ตามลำดับ แต่การจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่ม PA จะเป็นการขยายและต่อยอดโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าสู่ภูมิภาคลาตินอเมริกาได้มากยิ่งขึ้น

"การทำ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่ม PA คาดจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย เพิ่มขึ้น 0.04% ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ และมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับกลุ่ม PA เพิ่มขึ้น 16.75% ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ การส่งออกเพิ่มขึ้น 4.70% มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 44.67% มูลค่า 840 ล้านดอลลาร์"

ส่องเศรษฐกิจ-การค้าตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก  โอกาสสู่การทำเอฟทีเอ

ทั้งนี้กรมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือทำการศึกษาวิจัย เรื่อง ประโยชน์และผลกระทบในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่ม PA ผลการศึกษาประเมินว่า สินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับประโยชน์ อาทิ ธัญพืช พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ยางและของทำด้วยยาง ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่สินค้าที่ต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัว ได้แก่ ปลา สัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ สินแร่ ตะกรันและเถ้า เฟอร์นิเจอร์ โลหะต่างๆ และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับสาขาบริการของไทยที่มีศักยภาพได้แก่ การท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร การค้าส่งค้าปลีก และการก่อสร้าง ส่วนสาขาบริการที่ต้องปรับตัว อาทิ การขนส่ง สื่อ และการบริการธุรกิจอื่นๆ 

ขณะที่สำนักงานสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์ตลาดกลุ่ม PA พบว่าในปี 2565 ชิลี เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกอยู่ที่ 15,356 ดอลลาร์ สูงกว่าไทย 2.2 เท่า กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกมีจำนวนประชากรมากกว่าไทย 3.3 เท่า โดยเม็กซิโก เป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศ PA ซึ่งประชากรคิดเป็น 55% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ (กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกมีประชากรรวม 233 ล้านคน) สำหรับการค้าระหว่างประเทศ แหล่งนำเข้าสำคัญของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก 3 ลำดับแรก คือ อเมริกา จีน และบราซิล โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 15 คิดเป็น 1.15% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

ส่องเศรษฐกิจ-การค้าตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก  โอกาสสู่การทำเอฟทีเอ
 

“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ “ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยส่งออกไปยังตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกได้ไม่มาก แต่สินค้าไทยยังมีโอกาสเข้าถึงตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกได้อีก โดยสินค้าที่มีโอกาสแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.สินค้าดาวเด่น เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในกลุ่มประเทศกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกที่มีแนวโน้มเติบโตดี ประกอบด้วย อุปกรณ์และส่วนประกอบโทรศัพท์ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ

2.สินค้าศักยภาพ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

3.สินค้าแนะส่งเสริม เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ แต่กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกยังนำเข้าจากไทย ค่อนข้างน้อย หรือมูลค่าการนำเข้าจากไทยมีไม่ต่อเนื่อง จึงเป็นสินค้าไทยที่แนะนำให้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ ได้แก่ อาหารสุนัขและแมว และเหล็กและเหล็กกล้า แต่การเข้าสู่ตลาดใหม่ในสินค้าดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งจากคู่แข่งทางการค้าเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง และมาตรฐานสินค้าในกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่น

ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ PA เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมด (มากกว่า 95% ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ PA) แต่จากการวิเคราะห์ เห็นว่าไทยก็มีศักยภาพที่เจาะตลาดสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารด้วย โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลกระป๋อง และอาหารสุนัขและแมว

ตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าจับตามอง แต่ไทยยังมีการค้ากับประเทศเหล่านี้ค่อนข้างน้อย ดังนั้นโอกาสที่ไทยจะเข้าสู่ตลาดนี้ได้อีกมาก และไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มนี้ได้ หากว่ากระทรวงพาณิชย์สามารถเปิดการเจรจาเอฟทีเอได้ก็เป็นประตูสู่ตลาดลาตินอเมริกาขยายโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล”เศรษฐา ทวีสิน”ที่ต้องการเดินหน้าเปิดเอฟทีเอใหม่ๆเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าให้ไทยมากขึ้น