รัฐบาลยันเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล เล็งปรับเงื่อนไข "คนรวย" ไม่แจก

รัฐบาลยันเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล เล็งปรับเงื่อนไข "คนรวย" ไม่แจก

รัฐบาลเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล ชี้ประชาชนต้องการ ภาคธุรกิจรอคอย เชื่อรีสตาร์ตจีดีพีโต 5% ยันไม่มีปัญหาแหล่งเงิน เผยเตรียมโยกงบ 67 ไม่กระทบกรอบวินัยการคลัง พร้อมรับฟังข้อเสนอนักวิชาการ เตรียมปรับปรุงเงื่อนไข "คนรวย" อาจจะไม่แจก คาดสรุปให้ได้ภายในเดือนต.ค.นี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าในการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทแก่ประชาชน โดยระบุว่า นโยบายนี้ เป็นนโยบายที่ประชาชนต้องการ และภาคเอกชนเฝ้ารอ ซึ่งรัฐบาลก็ได้แถลงนโยบายนี้ ต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นจากนักวิชาการ และภาคส่วนที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายนี้ เพื่อนำมาปรับให้เหมาะสม โดยคณะกรรมการชุดใหญ่ที่พิจารณาในเรื่องนี้ จะได้ข้อสรุปโดยเร็วภายในเดือนต.ค.นี้

“ยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนไม่ว่านักวิชาการ หรือคนที่คิดต่าง โดยจะนำทุกความเห็นไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ โดยคณะอนุกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ จะประชุมในวันที่ 12 ต.ค.66 นี้ และจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 19 ต.ค.66 นี้ จากนั้น จะเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาอนุมัติในวันที่ 24 ต.ค.66 นี้”

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้นั้น เขากล่าวว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ยืนยันว่า มีแหล่งเงินอย่างแน่นอน เบื้องต้น ทางสำนักงบประมาณอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดลดงบประมาณปี 2567 จากโครงการอื่น และพิจารณาจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม แต่ยืนยันว่า การใช้จ่ายจะอยู่ในกรอบของวินัยการเงินการคลัง

“แหล่งเงินของโครงการนี้ จะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณเป็นหลักใหญ่ โดยรัฐบาลจะใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด และจะตัดไขมันส่วนเกินในงบประมาณ เพื่อใช้จ่ายเม็ดเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าดูประสบการณ์ของพรรคเพื่อไทย จะเห็นว่า เราเป็นพรรคที่สามารถชำระหนี้ IMF ได้ก่อนเวลากำหนด และสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้”

ทั้งนี้ ข้อเป็นห่วงเรื่องการแจกเงินในวงกว้าง ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาระงบประมาณเขากล่าวว่า รัฐบาลจะนำข้อเสนอนี้มาพิจารณา โดยในกลุ่มเปราะบางหรือคนจนนั้น ถือว่า ยังเป็นกลุ่มเป้าหมาย ส่วนกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ อาจพิจารณาปรับ แต่จะต้องไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งตนเชื่อว่า คนรวยสุดคงไม่เข้าร่วมโครงการนี้ และเชื่อว่า คนรวยคงมีความคิดเหมือนกันว่า ถ้าสามารถลดภาระงบประมาณรัฐได้ก็จะดี

เขากล่าวว่า ถ้าเศรษฐกิจไทย ยังเติบโตในระดับนี้คือ ขยายตัวแค่ 2%  เราจะไม่มีงบประมาณที่จะรองรับ Aging Society ในอนาคต ซึ่งนโยบายนี้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเศรษฐกิจขยายตัว 5% เฉลี่ยใน 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทย ยังขยายตัวไม่เต็มศักยภาพ ทำให้คนไทยยังมีปัญหาในเรื่องคุณภาพชีวิต และมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องดูแล การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยตื่นขึ้นมาอีกครั้ง หรือเป็นการ Re-start เศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ซึ่งเม็ดเงินจะกระจายไปทั่วประเทศ และหมุนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคน เกิดการจ้างงาน และการลงทุน ทำให้ภาคการผลิต ผลิตสินค้ามากขึ้น

เขากล่าวอีกว่า มีคำถามกันมามากว่า ทำไมต้องมีนโยบายนี้ คำตอบก็คือ ประเทศไทยมีปัญหาที่สะสมมานาน ทำให้ประชาชนมีความยากลำบากโดยเฉพาะคนในต่างจังหวัด ซึ่งรอนโยบายนี้ของรัฐบาล เพราะที่ผ่านมารายได้ของภาคการเกษตรลดลง รัฐบาลก็จัดเก็บภาษีได้น้อยลงด้วย ขณะที่ ภาระหนี้ครัวเรือนในประเทศสูงขึ้น และหนี้สาธารณะของรัฐบาล ปรับสูงขึ้นจากระดับ 40% ของจีดีพี มาอยู่ที่กว่า 60% ของจีดีพีในปัจจุบัน ฉะนั้น จึงเป็นสถานการณ์ที่เปราะบาง จึงมีความจำเป็นต้องรีสตาร์ตชีวิตของประชาชนขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้ จีดีพีของไทย ขยายตัวต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคและเราก็เติบโตต่ำกว่าภายในภูมิภาคมาโดยตลอด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์