'รัฐบาล' เตรียมแผนใหม่เปิดตลาดการค้าทั่วโลก เร่งส่งออก-ลงทุน ปิดดีล FTA

'รัฐบาล' เตรียมแผนใหม่เปิดตลาดการค้าทั่วโลก เร่งส่งออก-ลงทุน ปิดดีล FTA

รัฐบาลเตรียมเปิดแผนเปิดตลาดการค้าใหม่ทั่วโลก หวังเพิ่มการส่งออกเจาะตลาดใหม่ “นลินี” ผู้แทนการค้าไทย เล็งเจาะตลาดเอเชียกลาง – เอเชียใต้ – ละตินอเมริกา - แอฟริกา เตรียมเจรจาตั้งคลังกระจายสินค้าในโมซัมบิก  ใช้ BIMSTEC เดือน พ.ย.เพิ่มความร่วมมือส่งออกสินค้าไทย-อินเดีย

นางนลินี ทวีสิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่าจากนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่มีนโยบายให้ประเทศไทยเปิดตลาดใหม่ในการค้า และการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและการลงทุนของไทยรัฐบาล

นอกจากนั้นกำลังจะทำแผนภาพรวมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการเปิดตลาดการค้าใหม่ทั่วโลก ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดเดิมที่มีอยู่ โดยมีแผนในการเปิดตลาดใหม่ในหลายภูมิภาค เช่น เอเชียกลาง เอเชียใต้ ยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา และแอฟริกา

\'รัฐบาล\' เตรียมแผนใหม่เปิดตลาดการค้าทั่วโลก เร่งส่งออก-ลงทุน ปิดดีล FTA

 

“ปัจจุบันโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ซึ่งรัฐบาลก็ต้องทำแผนให้ครอบคลุมในจุดยุทธศาสตร์ที่เราจะเปิดตลาดใหม่ๆ ยังมีอีกหลายจุดที่เราจะไปได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการค้าแต่เป็นเรื่องการลงทุนที่จะขยายออกไปมากขึ้น” นางนลินีกล่าว

ทั้งนี้มีหลายประเทศที่น่าสนใจที่จะเข้าไปเปิดตลาด โดยในเอเชียกลางได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรธรรมชาติเกี่ยวกับพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ก็ต้องการทรัพยากร อาหาร และผลิตภัณฑ์ของไทย เช่น อะไหล่รถยนต์ ยางรถยนต์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นแลนด์ล็อกที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ซึ่งสามารถที่จะทำความร่วมมือระหว่างประเทศได้

ส่วนในเอเชียใต้ก็ถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจของไทย เช่น บังกลาเทศ และศรีลังกา ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากรจำนวนมาก โดย FTA ไทยกับศรีลังกานั้นได้เริ่มต้นแล้วและน่าจะสามารถผลักดันการเจรจาให้เสร็จโดยเร็ว รวมทั้งการทำ FTA ที่ใกล้ตัวกับเศรษฐกิจไทยมากเช่น  เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ที่ทำไปแล้วโดยจะมีการทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น

เล็งตั้งศูนย์กระจายสินค้าในตะวันออกกลาง

สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่มแอฟริกา ขณะนี้มองไปที่ 2 ประเทศหลักคือไนจีเรีย และโมซัมบิก โดยไนจีเรียเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 220 ล้านคน มีสินค้าไทยที่เขาต้องการอยู่มาก ขณะที่โมซัมบิกก็มีบริษัทเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเรื่องพลังงาน ขณะที่มีการนำข้าวเข้าจากประเทศไทยสูงถึงปีละ 6 แสนตัน หากไทยสามารถเจรจาขอตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution center) เพื่อเป็นจุดส่งสินค้าไทยไปและกระจายเข้าไปยังตลาดของกลุ่มประเทศต่างๆ โดยมีบางประเทศที่เหมาะที่จะตั้งศูนย์กระจายสินค้า และผลิตภัณฑ์การเกษตร เช่น โมซัมบิก ซึ่งมีชายฝั่งยาวมาก และมีท่าเรือน้ำลึกที่ทำให้การขนส่งมีความสะดวก

สำหรับการหารือกับกลุ่มนักธุรกิจโรมาเนียในวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมานั้นได้พบกับนักธุรกิจที่เป็นสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีที่เป็นนักธุรกิจไอที และเครื่องมือทางการแพทย์ซึ่งสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในเมืองไทย และต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนในโรมาเนียและประเทศข้างเคียง ซึ่งต้องการบุคลากรที่มีความสามารถเข้าไปทำงานในโรมาเนียที่มีความสามารถในเรื่องไอที วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ซึ่งการที่ไทยมีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจกับโรมาเนียก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะโรมาเนียเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ที่จะเป็นประตูให้ไทยสามารถขายสินค้าเข้าไปในEU ได้มากขึ้น

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการเจราจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย EU  รัฐบาลจะมีการหารือกับคณะทำงานที่เป็นระดับทางการของEU ต่อไป แต่หากมองในมุมทางการก็คือเราสามารถที่จะขอให้โรมาเนียช่วยสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก EU ของไทยได้อีกทาง

สำหรับความคืบหน้าการหารือและเจรจา FTA    กับประเทศอื่นๆเช่นอินเดียผู้แทนการค้าไทยเปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ได้หารือกับนายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟู ความตกลงการค้าเสรี FTA ระหว่างไทยกับอินเดียหลังจากการเจรจาชะงักไปหลายปี

โดยมีสินค้า 83 รายการที่สามารถจะเจรจากันได้ก่อน โดยส่วนนี้ถือเป็นตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) 83 รายการ มีผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเราสามารถที่จะรื้อฟื้นและยกระดับและทำเป็น FTA ที่ครอบคลุมและเข้มแข็งมากขึ้น

 ซึ่งในการประชุม ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ที่จะมีการประชุมที่ประเทศไทยในเดือน พ.ย.เบื้องต้นได้รับแจ้งว่านาย นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียจะเดินทางมาร่วมประเทศด้วยซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้หารือกับอินเดียในเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยมีหลายเรื่องที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วย