‘ทุนไต้หวัน’ สนตั้งนิคมฯ พันไร่ รับลงทุน ‘อีวี-สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์’

‘ทุนไต้หวัน’ สนตั้งนิคมฯ พันไร่ รับลงทุน ‘อีวี-สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์’

กนอ.เผยโมเมนตัมลงทุน 2 ปีหน้ายังดีต่อเนื่อง เตรียมขยายพื้นที่ทำนิคมเพิ่มรับลงทุนใหม่ ระบุทุนไต้หวันสนใจมาลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี รองรับอุตสาหกรรมอีวีและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งน่าจะทำให้โมเมนตัมการลงทุนดีอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีนักลงทุนที่เข้ามาเจรจา เป็นกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีน รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และระบบอัจฉริยะจากไต้หวัน ที่แสดงความสนใจลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรม 600-1,000 ไร่ เพื่อรวมกลุ่มการผลิตและรองรับการผลิตทั้งซัพพลายเชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ทั้งนี้ ในปี 2567 กนอ.และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เตรียมหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม รวมถึงสมาร์ตซิตี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และท่าเรือ ซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนาราว 4-5 ปี เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่พื้นที่อีอีซี 

รวมถึงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคที่มีศักยภาพ อย่างที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่กำลังมีการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งจะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ

ขณะที่ปัจจุบัน กนอ.มีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการ 68 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด รวมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 190,150 ไร่ โดยมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 25,744 ไร่

ส่วนผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2566 (ก.ย. 2565–ต.ค. 2566) มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน5,693 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 182% ที่มียอดขาย/เช่าทั้งปี 2565 รวม 2,016 ไร่ และเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ช่วงต้นปีที่2,500 ไร่ รวมถึงเป้าหมายที่ปรับเพิ่มแล้วในช่วงครึ่งปีตั้งไว้ที่ 4,350 ไร่

โดยเป็นพื้นที่ขาย/เช่าในอีอีซี กว่า 80% อยู่ที่ 4,753 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 939 ไร่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการตอบรับต่อมาตรการสิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่อีอีซี สามารถเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

ทั้งนี้ การนักลงทุนจากญี่ปุ่นยังครองแชมป์สนใจมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% รองลงมาคือ นักลงทุนจากจีน12% นักลงทุนจากสิงคโปร์ 8% นักลงทุนจากอเมริกา 6% นักลงทุนจากไต้หวัน 5% และนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ 39%

โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 6 อันดับแรกที่มีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่

1.กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม 57.33%

2.อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 11.82%

3.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 8.66%

4.อุตสาหกรรมยางเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 7.61%

5.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 7.52%

6.อุตสาหกรรมพลาสติก 7.06%

“กนอ.ประเมินว่าในปีงบประมาณ 2567 กนอ.ได้ประมาณการณ์ยอดขาย/เช่าที่ดิน ไว้ที่ 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่ในอีอีซี 2,700 ไร่และนอกอีอีซี 300 ไร่”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญในการตัดสินใจลงทุนคือโครงสร้างพื้นฐานเรื่องพลังงานสะอาด100% (RE100) ซึ่งไทยควรจะต้องเร่งปลดล็อกเรื่องกฎระเบียบเพื่อต้อนรับการลงทุน

ขณะเดียวกัน กนอ. จะมีแผนเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศในช่วงปลายปีนี้ที่ญี่ปุ่นเพื่อเซ็นเอ็มโอยูกับหน่วยงานที่ดูแลการลงทุน และไปที่เยอรมนีเพื่อดึงการลงทุนเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด ไฮโดรเจน และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 กนอ. ยังคงใช้หลัก “INSPIRE” แรงบันดาลใจ เพื่อให้ “หัว และ ใจ” นำพาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่สากล ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุน

ขณะเดียวกัน จะดำเนินการตามนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างเคร่งครัด อาทิ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจไปสู่ 4 ภาค การยกระดับการให้บริการอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม