กนอ.เร่งนิคมฯสมาร์ทปาร์ค ลุยโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน

กนอ.เร่งนิคมฯสมาร์ทปาร์ค ลุยโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน

กนอ.เผยงานก่อสร้างนิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค คืบหน้าแล้วกว่า 60% คาดแล้วเสร็จตามแผนปลายปี 67 เล็งดึงลงทุนกลุ่มอุตฯ ไฮเทค ชูจุดเด่นพื้นที่ขาย 600 ไร่ พร้อมปรับตามสั่ง (tailor-made) ตอบโจทย์อุตสาหกรรมลดปล่อยคาร์บอน

โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง มีพื้นที่ 1,400 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,370 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการปี 2567 โดยที่ผ่านมาการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2564 กับบริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด และกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน

ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 ซึ่งเป็นนิคมฯ นำร่องในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ กนอ.ได้ประกาศเจตนารมณ์ให้เป็นนิคมฯ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

รวมทั้งเป็นการดำเนินโครงการจะเป็นไปตามกรอบแนวคิด BCG Economy และนโยบาย Thailand 4.0 รวมทั้งสอดรับกับนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เน้นย้ำให้ทุกนโยบาย มาตรการ และกลไก มุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ อันจะส่งผลดีต่อธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้สู่ชุมชน มุ่งเน้นการผลิตและโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ที่มุ่งหวังให้เกิดการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต

“กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ตอบโจทย์ดังกล่าว" 

ขณะที่เมื่อดำเนินการเสร็จจะก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ทั้งการเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม S-Curve การพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดี โดยความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสมจนถึง 25 มิ.ย.2566 คืบหน้าไป 60.70% ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ในปี 2567

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่โครงการ 1,383.71 ไร่ ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่จะก้าวข้ามการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นฐานเดิม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ New S-Curve เสริมสร้างความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ทันสมัย ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ภายใต้แนวคิด “นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)”

ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593

“นิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค จะมีพื้นที่เช่า 622 ไร่ มีอัตราค่าเช่าพื้นที่ 430,000-500,000 บาท/ไร่/ปี โดยเน้นดึงกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี อาทิ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล ปัจจุบันมีบริษัทโลจิสติกส์จากยุโรปทำสัญญาเช่าพื้นที่แล้ว 10 ไร่ โดยที่ผ่านมาได้พูดคุยกับนักลงทุนที่สนใจหลายราย ทั้งจากจีนและญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนอีวี และซัพพลายเชน ทั้งนี้ จุดเด่นของนิคมฯสมาร์ท ปาร์ค คือกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งทำให้สามารถออกแบบการใช้งานพื้นที่ได้ตามสั่ง (tailor-made) ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ที่เตรียมพื้นที่เสร็จแล้ว”

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบสื่อสาร ระบบขนส่ง การจัดการพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แบ่งพื้นที่เป็นCluster แยกตามลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรม มีระบบรักษาความปลอดภัยและพื้นที่สีเขียวล้อมรอบแต่ละคลัสเตอร์ นำระบบไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคลงใต้ดินเพื่อทัศนียภาพและความปลอดภัย บริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ได้เตรียมพื้นที่พาณิชยกรรมเพื่อเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบทั้งด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบสื่อสาร ระบบขนส่ง การจัดการพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

“โดยพลังงานไฟฟ้าภายในนิคมอุตสาหกรรมจะใช้ระบบสมาร์ทกริดนำส่งไฟฟ้าพลังงานสะอาด 120-150 เมกกะวัตต์ เบื้องต้น กนอ. ได้ศึกษาร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ รวมทั้งการลงทุนศูนย์แยกไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรมด้วย”

กนอ.เร่งนิคมฯสมาร์ทปาร์ค ลุยโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน

ส่วนแนวทางการลด CO2 ในระยะก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 แนวทาง ดังนี้

1.บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด (ผู้รับจ้างก่อสร้าง) โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมได้ตอบรับแนวคิดของ กนอ.ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและได้รับการรับรอง มอก.2594

2.การดำเนินงานก่อสร้างมีความจำเป็นต้องใช้คอนกรีตผสมเสร็จ 120,000 ลูกบากศ์เมตร คิดเป็นปริมาณปูนซีเมนต์40,000 ตัน โดยโครงการจะใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดาทั้งหมด ซึ่งจะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึงประมาณ 2,000,000 กิโลกรัม หรือ เท่ากับปลูกต้นไม้ได้ 200,000 ต้น

สำหรับแนวทางการลด CO2 ในระยะดำเนินการจะมีการใช้เทคโนโลยีภายในโครงการ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน ระบบ Carbon capture and storage (CCS) และระบบขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด จะสามารถลดการปล่อย CO2 ในระยะดำเนินการ ได้ถึง 72% (1,014,000 ตัน/ปี) เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมทั่วไปอื่น