คลังสั่งออมสินช่วยแก้หนี้ครัวเรือนตั้งเป้าลดต่ำกว่า80%ของจีดีพี

คลังสั่งออมสินช่วยแก้หนี้ครัวเรือนตั้งเป้าลดต่ำกว่า80%ของจีดีพี

รมช.คลังมอบนโยบายออมสินช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระบบ ตั้งเป้าให้ลดต่ำกว่า 80% จากปัจจุบันที่อยู่กว่า 90% ของจีดีพี ด้านออมสินชูแนวทางลดดอกเบี้ยช่วยตัดเงินต้นได้เร็ว เผยเตรียมเสนอมาตรการช่วยลูกหนี้โควิด หลังยอดหนี้เสียสูง 8 พันล้านบาท จากมูลหนี้ 3 หมื่นล้านบาท

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของธนาคารออมสินว่า ได้มอบนโยบายให้ธนาคารออมสินเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับกว่า 90%ของจีดีพี ซึ่งโดยหลักแล้วระดับหนี้ครัวเรือนดังกล่าวไม่ควรจะเกินกว่า 80% ของจีดีพี ดังนั้น จึงขอให้ธนาคารออมสินเข้ามาช่วยแก้ไข ตั้งเป้าหมายให้ระดับหนี้ครัวเรือนดังกล่าวลดลงต่ำกว่า 80% ของจีดีพี

“เราคิดว่า ธนาคารออมสินมีศักยภาพพอ และ เป็นธนาคารที่ช่วยเหลือสังคมได้อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา ธนาคารก็ได้ดำเนินการผ่านช่องทางการจัดตั้งบริษัทลูกทั้งมีที่มีเงิน และ นอนแบงก์ ซึ่งก็เข้าไปช่วยให้อัตราดอกเบี้ยในระบบสำหรับลูกค้ารายย่อยนั้นลดลงได้จาก 25-26% เหลือประมาณ 16-18% ก็ถือว่า ช่วยสังคมได้จริง ก็คิดว่า เร็วๆนี้ ธนาคารจะมีโครงการช่วยเหลือเรื่องหนี้ครัวเรือนออกมา”

สำหรับวิธีการหรือแนวทางการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น รมช.คลังกล่าวว่า ทางธนาคารออมสินจะเร่งไปพิจารณา แต่ในลำดับแรก จะเริ่มแก้ไขจากลูกค้าของธนาคารก่อน ในส่วนอื่นๆก็จะอาสาเข้าไปช่วย ทั้งนี้ ในส่วนการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าของธนาคารนั้น ได้ขอให้เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มที่ธนาคารได้เข้าไปปล่อยสินเชื่อในช่วงโควิด ซึ่งขณะนี้ มีสถานะเป็นหนี้เสียอยู่จำนวนหนึ่ง หรือ ราว 1 หมื่นล้านบาท ก็อยากให้เข้าไปเร่งรัดการช่วยเหลือ

“ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าไปช่วยรัฐในการดำเนินการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดยปล่อยสินเชื่อรายละ 1 หมื่นบาท จำนวนประมาณ 3 ล้านราย วันนี้ ผลประกอบการโดยรวมถือว่า ดีเกินคาด ถือว่า ลดภาระที่รัฐจะต้องเข้าไปชดเชยได้มาก”

ทั้งนี้ ได้รับรายงานเกี่ยวกับผลประกอบการธนาคารว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยในส่วนของการกันสำรองส่วนเกินนั้น ได้เพิ่มขึ้นจาก 4 พันล้านบาท เป็น 5 หมื่นล้านบาท ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการใส่เงินกันสำรองจำนวนมากนั้น ไม่ได้กระทบต่อการนำส่งเงินเข้าคลังหลวงให้ลดลงแต่อย่างใด แต่ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย ส่วนระดับหนี้เสียนั้น ถือว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับด 2.9% ของสินเชื่อรวมเท่านั้น

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารได้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจากกระทรวงการคลังมาโดยตลอด ซึ่งหลักการแก้ไขปัญหา คือ การเพิ่มรายได้ ซึ่งส่วนนี้ จะต้องใช้เวลา อีกส่วน คือ การลดภาระหนี้ ในส่วนนี้ ธนาคารจะใช้แนวทางการลดดอกเบี้ยลง เพื่อให้การชำระเงินงวด สามารถนำไปตัดเงินต้น ซึ่งจะลดมูลหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งธนาคารก็จะใช้แนวทางนี้ในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

สำหรับลูกหนี้สินเชื่อโควิดนั้น ที่ผ่านมา ธนาคารปล่อยสินเชื่อไปราว 3 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2563 ปล่อยไป 2 หมื่นล้านบาท ปี 2564 ปล่อยไปเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ มีมูลหนี้ที่มีปัญหาอยู่ประมาณ 8 พันล้านบาท ซึ่งธนาคารกำลังดำเนินการแก้ไข โดยเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเสนอไปยังกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณา