‘อินเดีย’ จะกลายเป็น ‘New China’ ความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยตอนนี้?

‘อินเดีย’ จะกลายเป็น ‘New China’ ความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยตอนนี้?

โตแรงแซงจีน! นักวิเคราะห์ชี้ “อินเดีย” ผงาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก แซงหน้า “ญี่ปุ่น-เยอรมนี” ปักหมุดความหวังใหม่ท่องเที่ยวไทย มีโอกาสแซงหน้าจีน-ขึ้นแท่นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย!

Key Points:

  • ทศวรรษที่ผ่านมา “จีน” เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่า หลังจากนี้ “อินเดีย” มีโอกาสแซงหน้า ขึ้นแท่นประเทศมาแรง-ครองแชมป์เที่ยวไทยอันดับ 1
  • “จีน” ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงเหตุการณ์ฟองสบู่อสังหาฯ ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเปราะบาง ขณะที่ “อินเดีย” มีแนวโน้มโตวันโตคืน ชนชั้นกลางขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • ด้าน “ไทย” มีแผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวด้วยการเปิด “ฟรีวีซ่า” ให้นักท่องเที่ยวจีน ส่วน “อินเดีย” สามารถขอวีซ่าได้ง่ายอยู่แล้ว จึงอำนวยความสะดวกด้วยการลดการจัดเก็บภาษีสินค้าบางรายการแทน


ปี 2565 “มอร์แกน สแตนลีย์” (Morgan Stanley) บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลกระบุว่า ภายในปี 2570 “อินเดีย” จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก แซงหน้าประเทศยักษ์ใหญ่ที่เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดอย่าง “ญี่ปุ่น” และ “เยอรมนี” และในปี 2573 ตลาดหุ้นอินเดียจะผงาดขึ้นสู่อันดับ 3 ด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมา “อินเดีย” มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในโลก โดยมีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ “GDP” เฉลี่ย 5.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี มีปัจจัยเร่งโตหลักๆ สามส่วน ได้แก่ การขยายธุรกิจในต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัล และการขยายตัวด้านธุรกิจพลังงาน

หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านตราสารทุนจาก “มอร์แกน สแตนลีย์” ให้ความเห็นว่า หลังจากนี้ “อินเดีย” จะได้รับอำนาจในการจัดระเบียบโลกครั้งใหม่ ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทว่า “อินเดีย” กลับอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ของนักลงทุนทั่วโลก ขณะนี้ทางการอินเดียได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ รองรับการเติบโตสู่ “โรงงานโลกแห่งใหม่” อาทิ ลดภาษีนิติบุคคล สร้างแรงจูงใจในการลงทุน รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่รองรับการมาถึงของทุนข้ามชาติ โดย “มอร์แกน สแตนลีย์” เชื่อว่า ตัวเลขการผลิตในอินเดียจะเพิ่มขึ้นจาก 15.6 เปอร์เซ็นต์ สู่ระดับ 21 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2574 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการส่งออกของอินเดียเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นสองเท่าด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตที่ดูจะไปได้สวยของอินเดียไม่ได้สร้างผลสะเทือนแค่ในประเทศเท่านั้นแต่ยังขยายอิทธิพลมายังประเทศอื่นๆ แถบเอเชีย-แปซิฟิกด้วย ทศวรรษที่ผ่านมา “ไทย” พึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนมีการคาดการณ์ว่า “จีน” เตรียมขึ้นแท่นประเทศอันดับ 1 ของโลกในไม่ช้า ทว่า หลังการแพร่ระบาดใหญ่และเหตุการณ์ฟองสบู่อสังหาฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเปราะบางมากขึ้น ขณะที่ “อินเดีย” กลับเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนแล้ว คนอินเดียยังมีส่วนช่วยผยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี “ไทย” เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญ

ปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยคิดเป็นสัดส่วน 28 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวขาเข้าทั้งหมด และในปี 2565 นักท่องเที่ยวจีนลดลงเหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่ปี 2566 “อินเดีย” มีแนวโน้มเที่ยวไทยทะลุ “1 ล้านคน” และยังได้รับการคาดการณ์จากผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมืองมุมไบว่า “อินเดีย” มีแนวโน้มแซงหน้า “จีน” ครองแชมป์ท่องเที่ยวอันดับ 1 ในไทยด้วย

‘อินเดีย’ จะกลายเป็น ‘New China’ ความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยตอนนี้?

  • จีน “เคยเป็น” นักท่องเที่ยวต่างชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก

นับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อเนื่องทำให้ชนชั้นกลางจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากการบริโภคภายในประเทศจะแข็งแกร่งแล้ว ชาวจีนยังใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยวมากขึ้นโดยมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม เมื่อเกิดการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศในภูมิภาคดังกล่าวจึงออกมาตรการผ่อนปรน-ขยายข้อจำกัดการเดินทางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแดนมังกรโดยเฉพาะ ตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2562 นักท่องเที่ยวจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นจาก 47.7 ล้านคน เป็น 154.63 ล้านคน ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg)

ผลจากการขยายตัวที่เกิดขึ้นทำให้หลายประเทศในภูมิภาคนี้พึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะ “มาเลเซีย” และ “ไทย” ที่มีภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสำคัญ โดยในปี 2562 สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของ “มาเลเซีย” คิดเป็น 5.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดยในจำนวนดังกล่าวมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 17.8 เปอร์เซ็นต์ ด้าน “ไทย” มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยว 11.4 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี และในจำนวนนั้นมีนักท่องเที่ยวจีนมากถึง 28.1 เปอร์เซ็นต์

ภายหลังการแพร่ระบาดใหญ่จบลงหลายฝ่ายเชื่อว่า ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วแต่นั่นกลับไม่เป็นความจริง เพราะปี 2564 หลังการระบาดใหญ่สิ้นสุดนักท่องเที่ยวชาวจีนขาเข้าประเทศมาเลเซียเหลือเพียง 7,701 คนเท่านั้น ส่วนประเทศไทยมีชาวจีนเดินทางมาตลอดทั้งปี 2564 เพียง 13,043 คน และหากดูภาพรวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เทียบเคียงก่อนและหลังการแพร่ระบาดใหญ่จบลง ไม่มีประเทศใดเลยที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนแตะระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ก่อนการแพร่ระบาด 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลังจากนี้ “ไทย” และประเทศอื่นๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่สามารถพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนได้อีกแล้ว เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ทำให้ผู้คนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุผลสำรวจความคิดเห็นของหนุ่มสาว “เจน Z” ชาวจีนพบว่า พวกเขาไม่สนใจการเดินทางเป็นหมู่คณะเหมือนกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ หากจะท่องเที่ยวต้องมองหาการท่องเที่ยวที่มีความ “เอ็กซ์คลูซีฟ” มากขึ้น ไม่ใช่การท่องเที่ยวเป็นกรุ๊ปทัวร์ตามชายหาดและโรงแรมขนาดใหญ่

‘อินเดีย’ จะกลายเป็น ‘New China’ ความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยตอนนี้?

อีกเหตุผลสำคัญ คือปัจจุบันร้านค้าในประเทศจีนมีการปรับกฎเกณฑ์จูงใจให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่ในอดีตชาวจีนมีสัดส่วนใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย-สินค้าหรูหราทั่วโลกกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ เราจึงเห็นนักท่องเที่ยวจีนให้ความสนใจสินค้ากลุ่มลักชัวรีตามร้านค้าปลอดภาษีในกรุงเทพฯ และภูเก็ตจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ทางการจีนทยอยเปิดร้านค้าปลอดภาษีในประเทศมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้ายอดขายสินค้าลักชัวรีในจีนอาจดีดตัวสูงขึ้นโดยคิดเป็นสัดส่วน 90 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายสินค้าปลอดภาษีในเอเชีย-แปซิฟิกเลยทีเดียว

ในระยะสั้นอาจมีความเป็นไปได้น้อยลงทุกทีที่ “ไทย” และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะหาทางชดเชยกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป แต่ในระยะยาวการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ต้องเกิดขึ้นด้วยการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักท่องเที่ยวอินเดีย” ที่มีกลุ่มชนชั้นกลางขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกำลังส่งสัญญาณว่า นี่อาจเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของตลาดท่องเที่ยวไทยในทศวรรษนี้

  • “อินเดีย” ความหวังใหม่ท่องเที่ยวไทย?

นักท่องเที่ยวอินเดียในไทยขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ตลอดปี 2562 มีนักท่องเที่ยวอินเดียมาเยือนประเทศไทยราว 180,000 คน โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนสองส่วน ได้แก่ การยกเว้นวีซ่า และความมั่งคั่งของชนชั้นกลางอินเดียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สำนักข่าว “เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์” (South China Morning Post) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2571 จะมีนักท่องเที่ยวอินเดียหลั่งไหลเข้ามาในไทยอีกอย่างน้อย 10 ล้านคน และจะมีแนวโน้มการเติบโตคล้ายกันกับนักท่องเที่ยวจีนที่ทะยานจาก 800,000 คนเมื่อปี 2551 สู่ 10 ล้านคนในปี 2561

“ปรีชา จำปี” กรรมการสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวไทยให้ข้อมูลกับ “เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์” ว่า ความแตกต่างระหว่างนักท่องเที่ยว “จีน” และ “อินเดีย” คือ นักท่องเที่ยวอินเดียไม่นิยมมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ ทั้งยังสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว หากแต่ความคล้ายคลึงกันของคนสองกลุ่มนี้ คือระยะทางจากบ้านเกิดมายังประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 ชั่วโมง มีจำนวนความหนาแน่นของประชากรและเส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน แต่ส่วนที่น่าสนใจที่สุดอยู่ที่จำนวนคนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีในอินเดียกว่า 600 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ “ปรีชา” มองว่า เป็นอนาคตสำหรับการท่องเที่ยวไทยหลังจากนี้

“พาร์ฟ เจน” (Parv Jain) เด็กหนุ่มชาวอินเดียวัย 18 ปี จากรัฐปัญจาบมุ่งหน้ามายัง “ภูเก็ต” กับเพื่อนๆ อีก 7 คน ก่อนจะเดินทางไปยัง “กระบี่” และปักหมุด “กรุงเทพฯ” เป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายเปิดเผยว่า พวกเขาใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวตลอด 8 วันในไทยเฉลี่ยคนละ 15,000 บาท ด้าน “ทูฮิน มินตรา” (Tuhin Mintra) ระบุว่า ตนชอบมาเที่ยวที่พัทยา เพราะได้ทำสิ่งที่เด็กอายุ 27 ปีทำที่ประเทศบ้านเกิดไม่ได้ นั่นคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณริมชายหาด

นอกจากการกินดื่มเที่ยวแล้วยังพบว่า ชาวอินเดียนิยมจัดพิธีแต่งงานในไทยด้วย โดยมีรายงานจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า แต่ละปีจะมีชาวอินเดียจัดพิธีแต่งงานในไทยราว 200 คู่ ค่าใช้จ่ายต่อครั้งสนนที่ 8-9 ล้านบาทสำหรับแพ็กเกจจัดงานแต่งงานในโรงแรมห้าดาวที่กรุงเทพฯ พัทยา และหัวหิน โดยการจัดงานครั้งหนึ่งจะมีแขกจากอินเดียบินมาร่วมพิธีราว 300-400 คน เข้าพักที่โรงแรม 3-4 คืน เนื่องจากชาวอินเดียมองว่า ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการจัดพิธีแต่งงาน

ขณะที่ “อาเจย์ ประกาศ” (Ajay Prakash) ผู้บริหาร “Nomads Travel” เชื่อว่า “อินเดีย” มีศักยภาพมากพอที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป จากข้อมูลที่มีอยู่ “อาเจย์” ระบุว่า ชาวอินเดียมีแนวโน้มการใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หลายประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักจึงมีความพยายามในการดึงนักท่องเที่ยวอินเดียเข้าประเทศมากขึ้น โดยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 60 ประเทศทั่วโลกที่ชาวอินเดียสามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า สำหรับประเทศที่พึ่งพาเซกเตอร์ท่องเที่ยวเป็นหลักอย่าง “มาเลเซีย” ก็กำลังหาทางปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการขอวีซ่าได้ง่ายขึ้น

‘อินเดีย’ จะกลายเป็น ‘New China’ ความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยตอนนี้?

  • “ไทย” ปลุกท่องเที่ยวฟื้น หวัง “อินเดีย-จีน” เป็นแรงหนุน

กลางเดือนกันยายน 2566 “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีไทยเปิดเผยว่า ตนมีแผนเดินทางเข้าพบ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดียเพื่อหารือเกี่ยวกับการเพิ่มเที่ยวบินมายังประเทศไทย รวมถึงการปรับเพิ่มบริการอื่นๆ จากสายการบินแห่งชาติของไทยด้วย เนื่องจากปัจจุบันยังมีเที่ยวบินจากอินเดียมาไทยไม่มากนัก ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพิจารณาการผ่อนปรนนโยบายบางส่วนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวอินเดียมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันชาวอินเดียสามารถขอวีซ่าได้อย่างง่ายดายอยู่แล้ว มาตรการที่กำลังจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดีย คือการเสนอการยกเว้นจัดเก็บภาษีเครื่องประดับนำเข้าสำหรับการใช้ในพิธีแต่งงานชาวอินเดียที่จัดขึ้นในไทย อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ชาวอินเดียนิยมจัดพิธีแต่งงานในไทยมาก การยกเว้นข้อกำหนดนี้จึงมีส่วนช่วยสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวอินเดียปักหมุดมายังประเทศไทยได้ด้วย

ก่อนที่โลกจะรู้จัก “โควิด-19” ไทยเคยรองรับนักท่องเที่ยวได้มากถึงปีละ 40 ล้านคน ซึ่งขณะนี้ตัวเลขในเดือนกันยายน 2566 มีนักท่องเที่ยวรวมตลอดทั้งปี 20 ล้านคน หากเทียบเป็นสัดส่วนก็นับว่า ยังห่างไกลจากค่าเฉลี่ยเดิมนัก เมื่อเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้น เครื่องยนต์ตัวอื่นๆ ยังแทนที่ไม่ได้ นักท่องเที่ยวอินเดียจึงเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยรอดพ้นจากวิกฤติปริ่มน้ำในขณะนี้

 

อ้างอิง: Bloomberg 1Bloomberg 2Bloomberg 3Morgan StanleySouth China Morning PostSkift