อยากให้ "เศรษฐกิจไทย" โตเร็วต้องเร่งสร้างกล้ามเนื้อให้ระบบเศรษฐกิจ

อยากให้ "เศรษฐกิจไทย" โตเร็วต้องเร่งสร้างกล้ามเนื้อให้ระบบเศรษฐกิจ

ในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่ประเด็นที่ผมเป็นห่วงมาก ๆ คือ ระยะยาว ซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึง

ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยกล้ามเนื้อแขนขาลีบไปหน่อยทำให้วิ่งได้ไม่เร็ว และส่อแววขาดแรงส่งในระยะยาว ซึ่งแสดงอาการมานานแล้วผ่านเครื่องชี้ด้านเศรษฐกิจ 3 ตัว ได้แก่

ตัวที่ 1 คือ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

ตัวที่ 2 คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวประชากร และ

ตัวที่ 3 คือ อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน

ผมจะฉายภาพข้อมูลย้อนหลังไป 25 ปีให้ดู แบ่งเป็น 5 ช่วงเวลา ช่วงเวลาละ 5 ปี ได้แก่ 
1. ช่วงต้มยำกุ้ง (ปี 2540 – 2544) 2. ช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังต้มยำกุ้ง (ปี 2545 – 2549) 3. ช่วงปัญหาการเมือง ซับไพร์ม และน้ำท่วมใหญ่ (ปี 2550 – 2554) 4. ช่วงปัญหาการเมือง (ปี 2555 – 2559) และ 5. ช่วงปัญหาสงครามการค้า โควิด-19 และรัสเซีย-ยูเครน (ปี 2560 – 2564)  

เครื่องชี้ที่ 1 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ : อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยในช่วงแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ช่วงฟื้นฟูสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 9.5 และลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ร้อยละ 5.3 และร้อยละ 2.2 ใน 3 ช่วงหลังตามลำดับ ฉะนั้น ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

หากดูค่าเฉลี่ยเป็นช่วง ๆ จะเห็นว่าเศรษฐกิจอ่อนแรงลงเป็นลำดับ เหตุที่ผมสนใจดูเป็นช่วงมากกว่ารายปี เพราะถ้าดูรายปี บางปีจะสูงจากฐานต่ำ ทำให้เราหลงดีใจว่ามันไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

หลายคนอาจจะมองว่าที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยลดลง เป็นเพราะเศรษฐกิจเจอโรคแทรกซ้อนบ่อย ทำให้ป่วยง่าย แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่า หรือเป็นเพราะร่างกายเราไม่แข็งแรงด้วยใช่หรือไม่ ? 

อยากให้ \"เศรษฐกิจไทย\" โตเร็วต้องเร่งสร้างกล้ามเนื้อให้ระบบเศรษฐกิจ
 

เครื่องชี้ที่ 2 อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวประชากรก็ลดลงเช่นกัน : อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวประชากรเฉลี่ยในช่วงแรกอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ช่วงฟื้นฟูสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 8.8 และลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 1.8 ใน 3 ช่วงหลัง หรือเป็นเวลา 15 ปีที่รายได้ต่อหัวประชากรชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าการที่รายได้ที่ชะลอตัวลงนั้น เป็นผลจากเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง แต่ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า การตั้งเป้าหมายที่จะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางก้าวขึ้นสู่ประเทศรายได้สูงนั้น มันขยับไกลออกไปจากเป้าที่เราตั้งไว้
เรื่อย ๆ แล้วใช่ไหม ? 

เครื่องชี้ที่ 3 อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน : อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชนเฉลี่ยในช่วงแรกอยู่ที่ร้อยละ -13.1 ช่วงฟื้นฟูสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 10.3 และลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 1.2 ใน 3 ช่วงหลัง

แปลว่าตลอดระยะเวลา 15 ปีหลัง การลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.0 เท่านั้นเอง นอกจากนี้ ยังพบว่า มูลค่าการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและเอกชนที่แท้จริงในปี 2565 ยังคงมีระดับต่ำกว่าปี 2539 ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แปลว่า 25 ปีที่ผ่าน เรายังถมช่องว่างการลงทุนรวมที่หายไปไม่เต็ม ในขณะที่ GDP ปี 2565 มากกว่าปี 2539 ไปแล้วเกือบ 1 เท่าตัว

ฉะนั้น หากเราจะเป็นประเทศทันสมัย ความเจริญทั่วถึง มีอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น รัฐบาลน่าจะต้องปลุกการลงทุนของภาครัฐและเอกชนให้มีบทบาทมากขึ้นในการสร้างกล้ามเนื้อให้ระบบเศรษฐกิจหรือไม่ ?

 

อยากให้ \"เศรษฐกิจไทย\" โตเร็วต้องเร่งสร้างกล้ามเนื้อให้ระบบเศรษฐกิจ

เมื่อวิเคราะห์เครื่องชี้ที่ 3 อย่างละเอียด จะพบจุดอ่อนที่สำคัญมาก 2 ประการ ที่ทำให้เศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเติบโตได้ค่อนข้างช้า คือ

1) รัฐและเอกชนลงทุนน้อยทั้งคู่ กล่าวคือ ในช่วง 15 ปีหลัง การลงทุนภาครัฐขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.4 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.0 ต่อปี เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นถ้าดู 5 ปีหลังสุด การลงทุนภาครัฐขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.3 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.4 ต่อปี เท่านั้น และ

2) การลงทุนด้านการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักรน้อย กล่าวคือ ในช่วง 15 ปีหลัง การลงทุนด้านการก่อสร้างขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.4 ต่อปี ส่วนการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.0 ต่อปี เท่านั้น เช่นเดียวกันเป๊ะ

ถ้าดู 5 ปีหลังสุด การลงทุนด้านการก่อสร้างขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.3 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.4 ต่อปี เท่านั้น จึงสรุปได้ว่า ทั้งรัฐและเอกชนลงทุนต่ำทั้งคู่ การลงทุนในการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักรก็ต่ำทั้ง 2 ประเภท เมื่อการลงทุนต่ำ ก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า 

เมื่อทราบอาการของโรคแล้ว คำถามต่อมาคือ จะเร่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างไร ? ในทางเศรษฐศาสตร์มีแบบจำลองง่าย ๆ แต่ใช้ได้ร่วมสมัยมาก ๆ คือ “ลูกโป่งกับ 3 ลูกสูบของอาจารย์ป๋วย” ลูกโป่งแทนเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ลูกสูบ 3 ลูก แทนเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย

ได้แก่ ลูกสูบนโยบายการคลัง ลูกสูบนโยบายการเงิน และลูกสูบนโยบายการค้า การเงิน และการลงทุนระหว่างประเทศ

อยากให้ \"เศรษฐกิจไทย\" โตเร็วต้องเร่งสร้างกล้ามเนื้อให้ระบบเศรษฐกิจ

ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว ทางเลือกของรัฐบาล เช่น เพิ่มเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ โดยเงินที่เพิ่มนั้น อาจจะพุ่งไปที่การบริโภคภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจก็จะขยายตัว

หรือเงินนั้นอาจจะพุ่งไปที่การลงทุนภาครัฐโดยตรงผ่านกระบวนการลงประมาณ เพื่อให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ หรือลดอัตราภาษี อัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ต้นทุนการใช้จ่ายหรือลงทุนถูกลง เป็นต้น 

สมมติว่า เราเลือกใช้นโยบายการคลังโดยการสูบฉีดเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อขยายลูกโป่ง (แทน GDP) เราจะอัดเงินลงไปที่ใด ? ถ้ามองด้านการใช้จ่าย มี 2 ทางเลือก ได้แก่ ก.การบริโภค และ ข.การลงทุน

ถ้าเลือก ก. ได้ผลเร็ว อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะพุ่งขึ้นทันที แต่จะลดลงทันทีในปีถัดไปเพราะหมดแรงส่ง แถมไม่ก่อให้เกิดการวางรากฐานและขีดความสามารถในอนาคตมากนัก

แต่ถ้าเลือก ข. ได้ผลช้า อัตราการเติบโตไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่จะมีแรงส่งให้เกิดการเติบโตต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการวางรากฐานและขีดความสามารถในอนาคต ส่วนตัวชอบทางเลือก ข. เพราะการทำให้ประเทศเจริญเติบโตคงไม่ได้ดูผลประกอบการเป็นรายปี ต้องดูยาว ๆ

ความเจริญเติบโตของประเทศ สามารถส่งไม้ต่อไปยังลูกหลานได้ คนรุ่นเราต้องลงทุนขนานใหญ่เพื่อวางรากฐานไปในอนาคต น่าจะดีกว่าการส่งเสริมให้เกิดการบริโภคขนานใหญ่แล้วหมดสิ้นไปตามกาลเวลา ยกเว้นเกิดโรคระบาด ภัยพิบัติ สงคราม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อยากให้ \"เศรษฐกิจไทย\" โตเร็วต้องเร่งสร้างกล้ามเนื้อให้ระบบเศรษฐกิจ

ที่สำคัญการเร่งลงทุนของภาครัฐ ต้องโน้มนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมาด้วย เพราะพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควรจะเป็นภาคเอกชน

หากเพิ่มบทบาทของการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและเอกชน จะทำให้การลงทุนขยายตัวมากขึ้น เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มปริมาณสินค้าในตลาด เพิ่มการส่งออก ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับที่สูงกว่าเดิม และรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเดิม

ฉะนั้น การวางยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มลงทุนของภาครัฐ และดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงมีความสำคัญอย่างมาก เปรียบเสมือนการสร้างกล้ามเนื้อในระบบเศรษฐกิจให้ใหญ่ขึ้น มีสมรรถนะมากขึ้น มีขีดความสามารถมากขึ้น เพื่อนำพาประเทศพุ่งไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงขึ้น ตามที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด