ครม.เคาะงบกลางฯเพิ่มพันล้าน อุดหนุนมาตรการให้ส่วนลด ‘รถยนต์ไฟฟ้า’

ครม.เคาะงบกลางฯเพิ่มพันล้าน  อุดหนุนมาตรการให้ส่วนลด ‘รถยนต์ไฟฟ้า’

ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบกลางฯให้อุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าอีก 1 พันล้านบาท จากเดิม 3 พันล้านบาท หลังรถเข้าโครงการเกิน 20,000 คัน ทำให้ส่วนลดที่ได้คันละ 150,000 บาทต่อคันต้องมาของบประมาณเพิ่มชี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ และผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมาเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์

จำนวน 1,024,414,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ เพื่อให้มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิตามมาตรการฯ ที่จะต้องลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศภายในปี 2567 - 2568 ตามเงื่อนไขของมาตรการฯ และสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในการตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป

ทั้งนี้งบกลางฯที่มีการอนุมัติอุดหนุนเพิ่มเติมในครั้งนี้เนื่องจากวงเงินที่ ครม.ได้เคยอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้มีวงเงินทั้งสิ้น 3 พันล้านบาท ซึ่งให้เป็นส่วนลดที่ค่ายรถจะไปทำโปรโมชั่นลดราคารถยนต์ไฟฟ้าโดยลดราคาที่ 150,000 บาทต่อคัน โดยวงเงินดังกล่าวสามารถสนับสนุนส่วนลดรถยนต์ไฟฟ้าได้ 20,000 คัน

แต่ปัจจุบันคนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและเข้าโครงการนี้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ทำให้ต้องของบประมาณเพิ่มอีกประมาณ 1 พันล้านบาท เนื่องจากยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมามีการจดทะเบียนตามโครงการนี้แล้วกว่า 3.7 หมื่นคัน และอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 5 หมื่นคันได้

สำหรับนโยบายมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย

  • การลดภาษีนำเข้า รถที่มีการนำเข้าแบบทั้งคันจะลดภาษีจาก 40% เหลือ 0% และในปัจจุบันได้ขยายเป็น 60% เหลือ 0%
  • การลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2%
  • การให้เงินสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 150,000 บาทต่อคัน

ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายที่มีแผนการผลิตในประเทศไทยภายในปี 2567 และราคาของรถยนต์ไฟฟ้าต้องไม่เกิน 2 ล้านบาท

 

นโยบายมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 การสร้างความต้องการการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ตามแผนต้องเริ่มใช้ในปี 2564 – 2565 แต่มีการประกาศใช้จริงเมื่อกลางปี 2565 ในช่วงงานมอเตอร์โชว์ และประสบความสำเร็จ เมื่อมองย้อนกลับไป

ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าก่อนที่จะมีนโยบายมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะมีจำนวนสะสมเพียงแค่หลักพัน

แต่เมื่อมีนโยบายมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาในปี2565 ทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า

มีเกือบหลักหมื่นคัน ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะฉะนั้นความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เกิดขึ้นแล้ว โดยมีค่ายรถยนต์ไฟฟ้าหลายค่ายจากต่างประเทศ อย่างเช่น GWM(Great Wall Motors) และ MG เป็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าแรก ๆ ที่เซ็นเข้าร่วมมาตรการ ฯ ตามมาด้วย NETA BYDจากการที่รัฐบาลได้สนับสนุนให้คนเกิดความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ถ้าในช่วงระยะที่ 1 ได้ใช้งบประมาณหมดลง 

 

ระยะที่ 2 ที่เป็นระยะที่สำคัญ เนื่องจากระยะที่ 1 เป็นการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งคนไทยจะเป็นฝ่ายผู้ใช้อย่างเดียว โดยที่ประเทศไทยยังไม่ได้ผลประโยชน์และถือเป็นการเริ่มสร้างอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เริ่มใช้ในปี 2566 – 2568

ในช่วงแรกค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการ ฯ ที่ได้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจะต้องผลิตคืนภายในปี 2567 คือนำเข้า 1 คัน ต้องผลิตคืน 1.5 คันของจำนวนที่นำเข้า ส่งผลให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ประเทศไทยโดยจะมีทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศไทย

 

ระยะที่ 3 คือ ช่วงปี 2569 – 2573 การผลิตเพื่อส่งออกจำหน่ายออกไปทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยฝั่งขวา เมื่อเปลี่ยนเป็นยุคของรถยนต์ไฟฟ้า ควรจะมุ่งเน้นส่งออกไปยังประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยแบบเดียวกัน

ซึ่งในปี 2569 – 2573 มี RoadMap จากนโยบาย 30@30 ที่จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 30% ของจำนวนการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศไทยในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งอยู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ถ้าไม่มีนโยบายส่งเสริมจะส่งผลให้ส่วนที่เป็นรายได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอาจจะหายไป จากการเปลี่ยนรถยนต์น้ำมันเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า