ธรรมนัส ประกาศ สงครามปราบสินค้าเกษตรเถื่อนถ้วนหน้า

ธรรมนัส ประกาศ สงครามปราบสินค้าเกษตรเถื่อนถ้วนหน้า

ธรรมนัส ผนึกทุกภาคส่วน ลุยปราบขบวนการสินค้าเกษตรเถื่อน ทำลายกลไกราคาสินค้าเกษตรในประเทศ สั่งตั้ง คกก.บริหารแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานขับเคลื่อนยุทธการปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออก สินค้าเกษตรผิดกฎหมายว่า ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯที่กำหนดมาตรการประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน มุ่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง นั้น

ธรรมนัส ประกาศ สงครามปราบสินค้าเกษตรเถื่อนถ้วนหน้า ธรรมนัส ประกาศ สงครามปราบสินค้าเกษตรเถื่อนถ้วนหน้า

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประกาศคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ผลผลิตตกต่ำ ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์

ด้านพืช เช่น ยางพารา ข้าว ข้าวโพด หอม กระเทียม กาแฟ ปาล์ม และมะพร้าว เป็นต้น ด้านปศุสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว กระบือ เป็ด ไก่ และเครื่องในสัตว์ เป็นต้น ด้านประมง เช่น สัตว์น้ำสวยงามมีชีวิต ปะการัง ดาวทะเล จระเข้ และผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นต้น รวมถึงการหลอกลวง สินค้าผิดกฎหมายต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกฎหมายที่ใช้ปฏิบัติ แต่ไม่สามารถดำเนินการป้องกัน ปราบปรามได้อย่างครอบคลุมและเพียงพอ จึงมีการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา ด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวของ ประกอบด้วย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล) หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมศุลกากร กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ

กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเข้า ส่งออก ช่วยเหลือเกษตรกรได้ครอบคลุมมากขึ้น

“การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นการขับเคลื่อนยุทธการปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมายอย่างเอาจริง  เอาจัง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อการบริโภคสินค้าเกษตรที่ต้องมีความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นต่อพี่น้องเกษตรกรให้มีความมั่นคงทางอาชีพ

ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอเน้นย้ำกำชับให้เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเร่งดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าการเกษตรอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกรให้มีความมั่นใจในอาชีพ พร้อมที่จะเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร เติมเต็มความมั่นคงทางอาหาร สร้างประโยชน์เพื่อคนไทยและประเทศชาติต่อไป

ขณะเดียวกัน จากกรณีการลักลอบนำเข้าซากสุกร จำนวน 161 ตู้ ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี ได้มอบหมายให้นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการอย่างเร่งด่วน รวมทั้งภายในวันศุกร์ที่ 29 กันยายนนี้ เตรียมเผาทำลายซากสุกรเถื่อนดังกล่าวแน่นอน” ร้อยเอกธรรมนัส  กล่าว

สำหรับผลการปฏิบัติงานของกรมปศุสัตว์ ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กรมปศุสัตว์โดยกองสารวัตรและกักกันประกอบด้วย 59 ด่านกักกันสัตว์ และ 47 จุดตรวจทั่วประเทศ ได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และกรมศุลกากร ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย กรณีการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ ภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จำนวนทั้งสิ้น 480 ครั้ง เป็นซากสัตว์ของกลางทั้งหมดกว่า 2.2 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 318 ล้านบาท และได้ดำเนินการทำลายซากสัตว์ของกลางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง 

ส่วนกรณีการลักลอบนำเข้าซากสุกร 161 ตู้ ปริมาณรวม 4.3 ล้านกิโลกรัม มูลค่ากว่า 567 ล้านบาท ที่มีการตรวจพบตู้ตกค้างที่ด่านท่าเรือฯ แหลมฉบัง ขณะนี้ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้จัดเตรียมสถานที่สำหรับการจัดพิธีการทำลายซาก ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว ต.คลองไก่เถื่อน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว เรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างรอส่งมอบของกลางเพื่อจัดพิธีการฯ ต่อไป

ผลการปฏิบัติงานของกรมประมง ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กรมประมง โดยศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมง 10 ศูนย์ และ ด่านตรวจประมง 24 ด่าน ครอบคลุมด่านเข้า – ออกทั่วประเทศไทย ทั้งด่านทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้ดำเนินการตรวจป้องกันการลักลอบ นำเข้า – ส่งออกสินค้าประมง จำนวน 78,760 ครั้ง และมีการสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และกรมศุลกากร ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย กรณีการลักลอบนำเข้าสินค้าประมง ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จำนวน 6 คดี เป็นซากสัตว์ของกลางทั้งหมดกว่า 4,200 กิโลกรัม เป็นสัตว์น้ำมีชีวิตกว่า 800 ตัว และซากสัตว์ป่าคุ้มครองกว่า 130 ชิ้น

ผลการปฏิบัติงานของกรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร โดยเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ด่านตรวจพืช และสำนักนิติการ ได้บูรณาการกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 จำนวน 44 คดี พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จำนวน 19 คดี

และพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 จำนวน 52 คดี ผลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับมาตรการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 เพื่อการส่งออกมีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จำนวน 723,869 ฉบับ สินค้าพืชมีปริมาณ 60.8 ล้านตัน มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท และการอนุญาตนำเข้ามีจำนวน 565,961 ชิปเม้นท์ ปริมาณ 20.7 ล้านตัน มูลค่า 3.8 แสนล้านบาท ตรวจพบสินค้าที่ผิดเงื่อนไขการนำเข้า จำนวน 221 ครั้ง

ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร เพิ่มศักยภาพการผลิต การแปรรูปเพิ่มมูลค่า และมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการให้บริการทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง จึงไม่ได้มีบทบาทในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าหรือส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย แต่ก็สามารถทำงานเป็นกำลังเสริมในพื้นที่ให้แก่หน่วยงานหลักที่ถือกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตามพันธกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร

ซึ่งที่ผ่านมาได้มีมาตรการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนในภาคตะวันออกและภาคใต้ ในส่วนของโครงการตรวจก่อนตัดในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีการจัดตั้งจุดให้บริการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งทุเรียนแก่เกษตรกร จำนวน 39 จุด และภาคใต้ 86 จุด ซึ่งเฉพาะเพียงภาคตะวันออกที่สิ้นสุดฤดูการผลิตแล้ว สามารถสกัดทุเรียนอ่อนที่ยังไม่พร้อมตัดได้มากกว่า 5,000 รุ่น ตามจำนวนตัวอย่างที่เกษตรกรนำมาส่งตรวจ

ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าวยังมีการจัดนิทรรศการจาก 4 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1. กรมปศุสัตว์ นำเสนอนิทรรศการ การปฏิบัติงานของสุนัขดมกลิ่น บีเกิล และปศุสัตว์ไซเบอร์ (DLD Cyber Unit : DCU) 2. กรมประมง นำเสนอนิทรรศการภารกิจควบคุมตรวจสอบการนำเข้า – ส่งออก สินค้าประมง 3. กรมวิชาการเกษตร นำเสนอนิทรรศการ การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายของกรมวิชาการเกษตร การควบคุมการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร และระบบค้นหาทะเบียนปัจจัยการผลิต และ 4. กรมส่งเสริมการเกษตร นำเสนอนิทรรศการ 1) การส่งเสริมสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ ในแนวทางที่เหมาะสม และผลการดำเนินงานตรวจก่อนตัด “ทุเรียนคุณภาพ”

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล) ผู้บัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมศุลกากร กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น