'ลดน้ำมัน-ไฟฟ้า' รัฐบาลเศรษฐา 'ถูกที่-ถูกเวลา' หรือไม่?

'ลดน้ำมัน-ไฟฟ้า' รัฐบาลเศรษฐา 'ถูกที่-ถูกเวลา' หรือไม่?

สร้างผลงานทันตาเห็นสำหรับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) “เศรษฐา ทวีสิน” นัดแรกก็เดินหน้าลดราคาทั้ง น้ำมันดีเซล และไฟฟ้าทันที

เริ่มกันที่น้ำมันดีเซล ถือว่าเป็นไปตามคาดด้วยวิธีลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาทต่อลิตร จากที่เคยเก็บที่ 5.99 บาทต่อลิตร ลดลงจากเดิมลิตรละ 31.94 บาท เหลือ ลิตรละ 29.94 บาท เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ในช่วงนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนอย่างหนักต้องควักเงินอุดหนุนระดับ 7-8 บาทต่อลิตร หากคำนวนรายวันก็จะเฉลี่ยที่ 500 บาท หรือตกเดือนละ 15,000 ล้านบาท ส่งผลให้บัญชีติดลบกว่า 6 หมื่นล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดการนำเข้าน้ำมันเสรี ของ รมว.พลังงาน ทำให้หลายฝ่ายได้เกิดคำถามในใจดัง ๆ ว่า “ก็ทุกวันนี้การนำเข้าน้ำมันเสรีอยู่แล้ว” โดยผู้ค้าน้ำมันสามารถไปเจรจาซื้อ-ขายน้ำมันได้เองตามต้องการ ดังนั้น การที่ รมว.พลังงาน จะหารือกับ “กรมศุลกากร” เพื่อขอราคานำเข้าจึงดูแปลก ๆ

แหล่งข่าวจากวงการผู้ค้าน้ำมัน ระบุว่า ปกติการนำเข้าน้ำมันจะมีราคากลางอยู่แล้ว การซื้อขายน้ำมันจึงถือเป็นกลยุทธ์ของผู้ค้าแต่ละรายในการเจรจาว่าจะซื้อขายราคาเท่าไหร่ เสมือนกับเราไปดีลซื้อของต่าง ๆ ถือเป็นการตกลงราคากันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ดังนั้น กรมศุลกากรจะไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ราคา แต่จะมุ่งเป้าไปที่ปริมาณและเรียกเก็บภาษีตามปริมาณการนำเข้า เป็นต้น

 

อีกโจทย์สำคัญที่ รมว.พลังงาน โดนกดดันคือผู้ใช้น้ำมันเบนซิน เริ่มออกมาเรียกร้องเป็นเสียงเพลงว่า “เบนซินมีสิทธิ์ไหมคะ” ซึ่งนายกฯ ได้รับปากอย่างหมั่นเหมาะว่า “เบนซินมีสิทธิ์สิครับ” จึงต้องกลับมาที่ “กรมธุรกิจพลังงาน” ที่ต้องทำสมมติฐานเสนอรมว.พลังงาน ซึ่งหากเดาไม่ผิดจากที่เคยช่วยเหลือมาแล้ว คือ ให้ส่วนลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินแก่มอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านโครงการ “วินเซฟ” ที่มีใบอนุญาตกับกรมการขนส่งทางบกจำนวนสิทธิรวม 106,655 ราย (ข้อมูลปี 2565) จะได้รับสิทธิช่วยเหลือค่าน้ำมันไม่เกิน 250 บาท/คน/เดือน รวม 3 เดือน เป็นต้นโดยใช้เงินจากสำนักงบประมาณ

อีกกระแสที่ไม่พูดคงจะเป็นไปไม่ได้ คือ ค่าไฟฟ้าที่เรียกเสียงฮือฮาได้ติดต่อกันถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งมติครม. วันที่ 13 ก.ย. 2566สั่งลดค่าไฟลงมาจากมติคณะกกรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เรียกเก็บรอบเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย ถัดมาเพียงสัปดาห์เดียว ที่ประชุมครม. วันที่ 18 ก.ย. 2566 มีมติลดค่าไฟลงอีกเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น กกพ. จึงได้เรียก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หารือเพื่อสนองต่อภาคนโยบาย เพราะการลดราคา 2 ครั้ง ทำให้เกิดส่วนต่างถึง 46 สตางค์ต่อหน่วย รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง จึงต้องแบกรับภาระไปก่อน โดยให้ปตท. ลดค่าก๊าซธรรมชาติ ที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าเดิม 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู 

ในขณะที่ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟคงค้างเหลือราว 1.35 แสนล้านบาท และอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างในค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์นั้น ส่งผลให้เดิมการคืนหนี้กฟผ.งวดสุดท้ายคือเดือนเม.ย. 2568 ก็อาจจะต้องขยายไปถึงสิ้นปี

ดังนั้น แม้จะยืดหนี้ กฟผ. ก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาระยะยาว เพราะถึงที่สุดแล้ว หนี้ก้อนนี้ “ผู้ใช้ไฟ” จะต้องกลับมาจ่ายค่าไฟในส่วนที่กฟผ. แบกรับภาระไปก่อนในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งก็ไม่มีใครทราบได้ว่า “จะปกติเมื่อไหร่”