สรุปยอด 1 ปี 'LTR Visa' ต่างชาติเกษียณขอวีซ่าอยู่ไทยยาว ใช้จ่าย 1 ล้านบาทต่อปี

สรุปยอด 1 ปี 'LTR Visa' ต่างชาติเกษียณขอวีซ่าอยู่ไทยยาว ใช้จ่าย 1 ล้านบาทต่อปี

บีโอไอ เผยยอดผู้ยื่นขอวีซ่าตามมาตรการ LTR Visa ในรอบ 1 ปี มีจำนวนรวม 4,842 ราย พบกลุ่มเกษียณอายุรายได้สูงยื่นขอวีซ่ามากที่สุด โดยต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ ยุโรป สหรัฐ และจีน คาด 1 คน ใช้จ่าย 1 ล้านบาทต่อปี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 1 ปี ตั้งแต่การเปิดตัวมาตรการ LTR Visa อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2565 มีผู้ยื่นขอ LTR Visa แล้วรวม 4,842 ราย โดยเป็นชาวต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ ยุโรป 2,179 ราย สหรัฐ 810 ราย และจีน 507 ราย 

ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
1.ผู้เกษียณอายุที่มีบำนาญหรือรายได้อื่น ๆ ไม่น้อยกว่า
80,000 ดอลลาร์ต่อปี จำนวน 1,451 ราย คิดเป็น 30% 

2.ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย จำนวน 1,228 ราย คิดเป็น 25.4% 

3.ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ จำนวน 757 ราย คิดเป็น 15.6% 

4.ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีรายได้อย่างน้อย 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จำนวน 304 ราย คิดเป็น 6.3% 

5.คู่สมรสและผู้ติดตาม จำนวน 1,102 ราย คิดเป็น 22.8%

"โดยตลอด 1 ปีของการดำเนินงาน ทำให้พบว่าผู้ยื่นขอใช้สิทธิตามมาตรการ LTR Visa ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่มาจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีการตั้งสำนักงานในประเทศไทย"

อาทิ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท ไอเอชไอ พาวเวอร์ ซิสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท โรเบิร์ตบ๊อช ออโตโมทีฟ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน

บริษัท ดูคาติ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

และบริษัท นิวลี่ เว็ดส์ ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด

รวมถึงบริษัทไทยที่ต้องการบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ
เช่น บริษัท เอสซีบี เดต้า เอกซ์ จำกัด (SCB DataX) 

"ซึ่งบีโอไอประเมินว่าบุคลากรที่ยื่นขอ LTR Visa จะมีการใช้จ่ายราว 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอวีซ่ากว่า 4,000 ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท"

 ทั้งนี้ LTR Visa เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ ที่สามารถดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มพำนักระยะยาว การอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ยกระดับการพัฒนาศักยภาพแรงงานในประเทศไทย ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน 

"โดยบีโอไอจะดำเนินการในเชิงรุก เพื่อสนับสนุนและสร้างบรรยากาศ รวมถึงระบบนิเวศที่ดีต่อการลงทุนในไทย เช่น การอำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจ การพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตอย่างยั่งยืน” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ รายงานจาก Expat Insider 2023 โดยเว็บไซต์ InterNations พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก จากทั้งหมด 53 ประเทศ

อีกทั้งายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีระดับความสุขของการทำงานของ Expats ถึง 86% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก อยู่ที่ 72% โดยดัชนีดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จในการดำเนินนโยบายดึงดูดผู้พำนักชาวต่างชาติของไทย