“บีทีเอส” ลุ้นต.ค.สภากทมเคาะจ่าย สายสีเขียวก้อนแรก 2.8 หมื่นล้าน

“บีทีเอส” ลุ้นต.ค.สภากทมเคาะจ่าย สายสีเขียวก้อนแรก 2.8 หมื่นล้าน

บีทีเอส ลุ้น ต.ค.นี้ บรรจุวาระเข้าสภากรุงเทพมหานคร เคาะหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” จ่ายก้อนแรกให้เอกชน 2.8 หมื่นล้านบาท ค่างานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ส่วนหนี้ส่วนต่อขยายรอศาลชี้ขาด

หลังคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 ให้ตั้งคณะกรรมกรขึ้นมาและได้ข้อสรุปการแก้ปัญหา และได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 7 ครั้ง แต่ถูกตีกลับให้มีการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมดังนั้น ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงจะเป็นเหมือนมหากาพย์อีกบทของการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)เปิดเผยหลังเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า เพื่อรายงานการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครและในช่วงท้ายของการหารือกับนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางการตั้งคณะกรรมการเร่งรัดแก้ปัญหาในกรุงเทพมหานครถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยขณะนี้ขั้นตอนอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีรายละเอียดมากโดยกระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือสอบถามมายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ตอบกลับไปจากนั้นกระทรวงมหาดไทยจะนำเรียนนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

“ได้ชี้แจงนายกรัฐมนตรีว่าเรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งกับประชาชนและเอกชนที่มาลงทุนเพราะในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่จะต้องชวนเอกชนมาลงทุนฉะนั้นจะต้องมีความโปร่งใสและให้ความมั่นใจ รวมทั้งประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุดโดยกระบวนการวันนี้อยู่ในสภากรุงเทพมหานคร โดยคิดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์จะทำเรื่องตอบกระทรวงมหาดไทยจากนั้นกระทรวงมหาดไทยนำเรียนนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง”

หวังเอกชนมั่นใจร่วมลงทุนกับรัฐต่อ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เมื่อนายชัชชาติพูดถึงเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า “ใช่ครับต้องให้ความมั่นใจ” จากนั้นนายชัชชาติ กล่าวต่อว่า

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า ขณะนี้ กทม.ได้ทำหนังสือขออนุมัติจ่ายหนี้ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) 22,800 ล้านบาท ให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ที่เป็นคู่สัญญา เสนอไปยังสภากรุงเทพมหานครก่อน หลังจากนี้ถือเป็นอำนาจของสภากรุงเทพมหานครที่จะบรรจุเป็นวาระพิจารณาในการเปิดประชุมสภากรุงเทพมหานคร ที่จะถึงในเดือน ต.ค.นี้

“ตอนนี้ กทม.ได้ทำตามหน้าที่ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการแล้ว โดยการทำหนังสือส่งเรื่องไปให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณา แต่อำนาจของการพิจารณาทั้งหมดก็อยู่ที่สภากรุงเทพมหานคร ดังนั้นคงต้องรอดูว่าในการเปิดประชุมสภาเดือนหน้านี้ จะมีการนำเอาเรื่องการจ่ายหนี้รถไฟฟ้าบรรจุในวาระหรือไม่ แต่ทาง กทม.ยืนยันว่าเราเข้าใจเอกชน และพร้อมที่จะชำระหนี้ส่วนนี้”

“บีทีเอส” ลุ้นต.ค.สภากทมเคาะจ่าย สายสีเขียวก้อนแรก 2.8 หมื่นล้าน

คาดจ่ายได้ก้อนแรก2.2หมื่นล้าน

สำหรับก่อนหน้านี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เตรียมเสนอจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าก้อนแรก 22,800 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขออนุมัติใช้เงินสะสมของกรุงเทพมหานครที่มีคงเหลือราว 40,000 – 50,000 ล้านบาทมาจ่ายหนี้ส่วนนี้ เนื่องจากหนี้ที่เกิดจากค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า เป็นก้อนหนี้ที่ครบกำหนดต้องชำระให้กับภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าคณะกรรมการวิสามัญที่ผ่านมาประชุมแล้ว 5 ครั้ง ดังนั้น กทม.จึงมองว่าหนี้ส่วนนี้มีข้อมูลพิจารณาเพียงพอที่จะชำระให้เอกชนได้

ส่วนหนี้ที่เกิดจากค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง O&M (Operation and Maintenance) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) เรื่องนี้ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ดังนั้นยังต้องรอกระบวนการศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อน

เคยส่งครม.เก่ารับทราบแผนจ่ายหนี้

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) รัฐบาลก่อนได้มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำเสนอผ่านกระทรวงมหาดไทยที่จะจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าก้อนแรก 22,800 ล้านบาท ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BTSC”

ทั้งนี้ ครม.รับทราบภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานและงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถของ กทม.ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณ วงเงินรวม 78,830.86 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มี.ค.2566) ที่ กทม.มีภาระต้องจ่ายให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสำหรับเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่ กทม.ต้องจ่ายในอนาคต ซึ่งเกิดภายหลังจากที่ กทม.หยุดชำระหนี้มาตั้งแต่เดือน ก.ค.2562