สศช. ถกโมเดลเปลี่ยนผ่านประเทศ โตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

สศช. ถกโมเดลเปลี่ยนผ่านประเทศ โตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

สศช. เผยเศรษฐกิจไทย 5 ปีที่ผ่านมาโตเพียง 1.4% ย้ำความเสี่ยงในอนาคตยังมีอีกมาก ทั้งมิติเศรษฐกิจ ทรัพยากร สังคมและเทคโนโลยี ชี้แนวโน้มโลกแบ่งขั้วจะเป็นโอกาส ไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านผลิตภาพ ระบบราชการ คอร์รัปชัน สังคมสูงวัย และแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จัดงานประชุมประจำปี 2566 ในหัวข้อ “Transitioning Thailand: Coping with the Future” เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเพื่อรับมือกับความเสี่ยงและความผันผวนของโลกในอนาคต 

รวมทั้งเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “Inclusive Green Growth Transition” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแสดงความคิดเห็นและมุมมองเกี่ยวกับการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ และสร้างจุดเปลี่ยนในการนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ผลการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.4% หากไม่รวมปีที่เกิดโควิดจะขยายตัวอยู่ที่ 2.6% ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 5% เนื่องจากผลกระทบจากหลายปัจจัย ตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักมีรายได้ลดลงอย่างมาก ซึ่งแม้ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาแต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายต่อหัวที่น้อยลงกว่าในอดีต 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่น่ากังวลเรื่องอัตราการออมที่น้อยลง อัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการศึกษาที่สะท้อนจากผลคะแนนสอบโอเน็ตที่ยังต่ำกว่า 50% รวมทั้งภาพรวมประสิทธิภาพภาครัฐที่มีอันดับลดลง

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และสถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินค้าชุมชนต่อเนื่องจากปี 2560 โดยรายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP จำนวน153,467 ล้านบาท เป็น 244,778 ล้านบาท ในปี 2565

ก้าวหน้าลงทุนอีวี-อิเล็กฯ

ส่วนการขับเคลื่อนแผนฯ 13 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีความก้าวหน้าในการส่งเสริมภาคการผลิตที่มีผลตอบรับอย่างดีโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด มีการลงทุนในประเทศไทยจากผู้ผลิตหลายราย รวมทั้งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนกำลังจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น และมีการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับภาคเกษตรเป็นสมาร์ตฟาร์มมิ่ง กำหนดตำบลนำร่อง 20-30 ตำบลทดลองใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรเพื่อการเกษตรก่อนขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือแพทย์มีการเข้ามาลงทุนในมากขึ้น ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารที่มีชื่อเสียงในระดับโลกมากขึ้น การเปิดทางให้กองถ่ายภาพยนต์ต่างชาติเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้นและระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ที่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์แล้ว อยู่ในขั้นตอนชักชวนลงทุนเข้ามาในพื้นที่

ในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำและพลังงาน โดยเฉพาะเชื้อเพลิงสะอาด อยู่ระหว่างการศึกษาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งเสริมการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศให้มีพลังงานสีเขียวใช้

ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาระบบบริหารภาครัฐดิจิทัล การออกใบอนุมัติ อนุญาตให้รวดเร็วผ่านระบบอิเล็กมรอนิกส์เพื่อให้ลดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและต้นทุนด้านเวลา รวมทั้งดิจิทัลทรานส์ฟอเมชั่นด้านทักษะแรงงาน

อนาคตยังมีความเสี่ยง

“ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยยังเผชิญความเสี่ยงเรื่องความไม่ปกติ จากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ค่าครองชีพสูง ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักในยุโรปรวมทั้งจีน ซึ่งเราไม่รู้ว่าขนาดของปัญหานั้นลึกและกว้างขนาดไหน ขณะที่ความเสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติที่จะมีความถี่และความรุนแรงที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เรื่องความมั่นคงทางอาหารในอนาคต”

ขณะที่ความเสี่ยงในระยาวอีก 10 ปีข้างหน้า มองว่าส่วนใหญ่เป็นวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเกิดจากการไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ประกอบกับแรงหนุนจากแนวโน้มทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ อาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์รวมถึงการย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่โดยไม่สมัครใจ ซึ่งจะกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อเสถียรภาพของโลก

โดยสศช. สรุป 5 ความเสี่ยงหลัก ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของโลก ได้แก่ 1. ระบบเศรษฐกิจผันผวน ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ส่งผลต่อการเกิดวิกฤตค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน 2. ทรัพยากรขาดแคลน วิกฤตด้านอาหาร เชื้อเพลิง และต้นทุน ทำให้ความเปราะบางทางสังคมรุนแรงขึ้น 3. ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กระตุ้นให้เกิดสงครามทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งต่าง ๆ 4. สังคมเปราะบาง ไม่เท่าเทียม ขาดความสามารถในการฟื้นตัว การลงทุนในมนุษย์ที่ลดลง มีผลต่อการลดลงของความสามารถในการฟื้นตัวของสังคมในอนาคต และ 5. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมในสังคมรุนแรงขึ้น การถูกจารกรรมข้อมูลจากระบบที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อสังคมที่ทำให้ผู้คนสูญเสียทรัพย์

“ดังนั้นต่อจากนี้โมเดลการพัฒนาประเทศทไทยต่อไปจะต้องพัฒนาแบบไหน โดยสศช.มีแนวคิด3 เรื่อง ประกอบด้วย การเติบโตอย่างยั่งยืน (Green Growth) ที่ทุกคนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกันในสังคม (Inclusive Growth) ซึ่งนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

สศช. ถกโมเดลเปลี่ยนผ่านประเทศ โตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านจะเป็นโอกาสของประเทศไทยได้ต่อเมื่อเราสามารถบริหารความเสี่ยงภายในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยได้ ซึ่งประกอบด้วย 1.ผลิตภาพ(Productivity) โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่คนจำนวนมากฝากชีวิตเอาไว้ ภาคการบริการ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นบริการดั้งเดิม บริการท่องเที่ยว ภาคการผลิตของเอสเอ็มอี ติดกับดักในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน

2.โครงสร้างระบบราชการ ไม่เอื้อการทำงานที่จะตอบโจทย์การทำงานในรูปแบบใหม่ ที่จะต้องมีการทำงานแบบบูรณาการกัน ที่อาจนำไปสู่การเกิดความล้มเหลวในการประสานงานของภาครัฐไทย ซุ่งอาจเป็นปัญหาในการผลักดันเรื่องใหม่ๆ

3. ระบบนิติรัฐและการคอร์รัปชัน สถานะของประเทศไทยไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเลยในช่วงที่ผ่านมาเลยในเรื่องของการคอร์รัปชัน ซึ่งนี่เป็นตัวที่ทำลายความไว้วางใจ

4.สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ในขณะที่ประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการดูแลสวัสดิการตลาดที่จะมีขนาดเล็กลง และคนวัยกลางคนที่จะมีภาระในการดูแลกลุ่มผู้สูงวัยมากยิ่งขึ้น

5.การวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาาศ โดยเฉพาะเรื่องน้ำที่จะเป็นเรื่องใหญ่ น้ำแล้ง น้ำสะอาดไม่พอใช้ กระทบพื้นที่ทำการเกษตร คนที่จะเดือดร้อนมากที่สุดจะเป็นกลุ่มฐานรากของสังคม รวมทั้งเรื่องพลังงานที่ไทยได้รับผลกระทบมากจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เนื่องจากไทยพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ โจทย์ของโมเดลเศรษฐกิจไทยจะต้องมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ การแข่งขันด้วยผลิตภาพที่สูงขึ้น การผลิตที่ต้องให้คุณค่ากลับมาที่สูงกว่าเดิม การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง การมีภูมิคุ้มกัน เป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับคน โครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่มีภูมิคุ้มกันมากก็จะไม่ล้มง่าย และฟื้นกลับมาเร็ว นอกจากนี้ในโลกในอนาคตจะต้องมีความสามารถในการปรับตัว ระบบเศรษฐกิจต้องปรับตัวได้เร็ว รวมทั้งการปฏิรูปภาครัฐ รับฟังฝั่งผู้ใช้บริการมีตัวเลือกมากขึ้น การกระจายศูนย์อำนาจ สู่ระบบสังคมและเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส โดยเฉพาะโอกาสในการแข่งขัน และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี