'พลังงาน' เปิดแผน 'ลดค่าไฟ' ทุก 1 สต.แลกแบกหนี้ 600 ล้าน

'พลังงาน' เปิดแผน 'ลดค่าไฟ' ทุก 1 สต.แลกแบกหนี้ 600 ล้าน

“พลังงาน” ชี้ ลดค่าไฟทำได้ ต้องยืดหนี้กฟผ.แลกแบกภาระ ทุก 1 สตางค์ เท่ากับ 600 ล้านบาท ตามต้นทุนค่าไฟจริงหน่วยละ 4.07 บาท “สนพ.” คาดราคาพลังงานครึ่งปีหลังขยับสูง รับการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณปลายปีนี้ไม่ถึง 600 ล้านลบ.ฟุต/วัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากรายงานตัวเลขต้นทุนที่แท้จริงค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จะอยู่ที่หน่วยละ 4.07 บาท ซึ่งจามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรียกเก็บค่าไฟที่หน่วยละ 4.45 บาท นั้น เพื่อคืนหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณหน่วยละ 38 สตางค์ คิดเป็นเงินประมาณ 600 ล้านบาทต่อ 1 สตางค์ ในยอดรวม 1 งวด หรือจะอยู่ที่ประมาณ 22,800 ล้านบาท ซึ่งหากค่าไฟเหลือ 4.25 บาท กฟผ. จะรับคืนราวหน่วยละ 18 สตางค์ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม จากรายงานของกกพ. ระบุว่า กฟผ. เสนอลดการยืดหนี้มาได้เพียงเท่านี้ กกพ. จึงทำตัวเลขให้ได้ออกมาเรียกเก็บประชาชนที่หน่วยละ 4.45 บาท ดังนั้น หากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยากให้ลดอัตราค่าไฟฟ้าให้ได้มากกว่านี้ก็สามารถทำได้ โดยหารือกับกฟผ. และออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาให้กฟผ. ยืดหนี้ออกไปอีก และรัฐบาลก็จะต้องเข้าไปดูแลกฟผ. แทน

รอการเมืองเคาะราคาค่าไฟฟ้า 

“ทีมข้าราชการก็มีหน้าที่ดำเนินงานเตรียมแผนงานไว้ให้เลือกในหลักความเป็นจริง ดังนั้น การลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี 2566 จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะตัดสินใจ ดังนั้น ตัวเลขราคาหน่วยละ 4.07-4.45 บาท ท่านรมว. ก็สามารถเลือกได้ว่าอยากได้ตัวเลขที่เท่าไหร่ แล้วสั่งกฟผ. ให้รับในจำนวนดังกล่าว”

แหล่งข่าว กล่าวว่า โดยหลักการความเป็นจริงที่กระทรวงพลังงานมอง หากยึดตัวเลขหน่วยละ 4.07 บาท ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะจากรายงานราคาก๊าซนำเข้า LNG มีราคาลดลง แต่ช่วงปลายปีก็จะเริ่มแพง ดังนั้น หากจะให้ตัวเลขสวย และคงราคาค่าไฟฟ้าไว้ในระยะยาวถึงปีหน้า ควรอยู่ที่หน่วยละ 4.20-4.30 บาท เพื่อรักษาราคาค่าไฟในระยะยาว โดย กฟผ. ยังได้คืนมาบ้างนิดหน่อยและแบกภาระไม่มาก เป็นต้น

\'พลังงาน\' เปิดแผน \'ลดค่าไฟ\' ทุก 1 สต.แลกแบกหนี้ 600 ล้าน

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาราคาค่าไฟที่สำคัญคือ ต้องรีบเพิ่มกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพราะจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายที่น้อยลง เพราะหากเพิ่มกำลังผลิตขึ้นมาไม่ได้ ก็จะแบกค่าใช้จ่ายไว้อย่างนี้อีกต่อไป ซึ่งการแก้ปัญหาในเบื้องต้นแบบเร่งด่วนก็คือ รัฐบาลจะต้องดูตัวเลขเองว่าจะให้ค่าไฟอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งกฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้น 100% และรัฐบาลอยากให้รับไว้ก่อนก็ได้ แต่ต้องดูว่าสถานะรับได้เท่าไหร่ และต้องดูราคาในระยะยาวแทนที่จะดูราคาในงวดนี้งวดเดียว

ราคาเหมาะสมหน่วยละ4.20-4.30บาท

“ส่วนตัวมองว่าราคาหน่วยละ 4.20-4.30 บาท น่าจะเป็นค่าไฟที่ได้ในระยะยาว กฟผ. อาจรับบ้างนี้หรืองวดหน้าก็พอได้ หากจะช่วยเหลือเป็นกลุ่มอีก รัฐบาลก็จะต้องหาเงินมาเหมือนเดิม จึงมองว่าน่าจะช่วยราคาครอบคลุมทั่วไปดีกว่า ทั้งนี้ ปัจจุบัน กฟผ. ยังคงแบกภาระค่า FT ที่ราว 1.35 แสนล้านบาท ถ้างวดนี้ได้คืนปกติจะเหลือราว 1.1 แสนล้านบาท ถ้าไม่ได้คืนจะเหลือเท่าเดิม อาจบวกลบนิดหน่อยเพราะงวดก่อนหน้ายังไม่ได้มาคิด และยังไม่ได้มีการบวกลบกันจริงจัง”

นอกจากนี้ ประเด็นที่ภาคเอกชนตั้งสมมติฐานว่าจะลดราคาค่าไฟลงมากกว่านี้ โดยการไปซื้อ LNG มาก่อนนั้น ในการดำเนินธุรกิจแล้วเป็นไปได้ยาก ไม่มีคนขาย เพราะการไปซื้อตอนที่ราคาถูก เพื่อให้ส่ง LNG มาในช่วงที่ราคาแพงจะไม่มีนักธุรกิจที่ไหนยอมส่งให้ ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีสัญญา นอกเสียจากจะซื้อมาในช่วงราคาถูกและเก็บในคลัง ซึ่งปัจจุบันคลังจัดเก็บยังมีน้อย

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทิศทางในไตรมาส 4 มีสัญญาณในการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศตะวันตก และยังมีปัจจัยจากซาอุดิอาระเบียที่จะขยายเวลาการลดกำลังการผลิตที่ต้องติดตามใกล้ชิด รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลก

แหล่งเอราวัณยังผลิตได้ไม่เต็มที่

“ราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) เอทานอลในช่วงไตรมาส 4 ภาพรวมคาดว่าจะสูงขึ้น ยกเว้นในส่วนของไบโอดีเซล (B100) ที่มีทิศทางลดลงจากตลาดโลกมีความเข้มงวดในเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.66) ของไทยอยู่ที่ 678 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลง 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากปัจจัยหลักคือแหล่งน้ำมันดิบทานตะวันที่ลดลงถึง 30% และแหล่งก๊าซเอราวัณ (G1/61) จากการหารือร่วมกับ ปตท.และ กกพ. วางเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 600 ล้านลูกบาศหก์ฟุตต่อวันในสิ้นปี คงจะอยู่เท่าเดิมที่เพียง 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ก็ได้รับคำยืนยันว่าภายในเม.ย.2567 จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น ปลายปีที่ไม่เป็นไปตามแผนต้องนำเข้า LNG เข้ามาแต่ปริมาณเท่าใดคงจะต้องดูว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะไปเร่งการผลิตในแหล่งอื่นๆ มาเสริมได้มากน้อยเพียงใดด้วย