ยักษ์ ‘อิเล็กทรอนิกส์’ ไต้หวัน 10 ราย ปักหมุดลงทุนไทย ยอด 8 เดือน แตะ 3 หมื่นล้าน

ยักษ์ ‘อิเล็กทรอนิกส์’ ไต้หวัน 10 ราย ปักหมุดลงทุนไทย ยอด 8 เดือน แตะ 3 หมื่นล้าน

บีโอไอเผยกลุ่มบิ๊กอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน ผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) โน๊ตบุ๊ก และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมั่นศักยภาพไทย ใช้เป็นฐานผลิตหลักเพื่อส่งออก ทยอยลงทุนแล้ว 10 บริษัท เผยยอดส่งเสริมลงทุน 8 เดือน ปี 2566 มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลกที่ขยายตัวอย่างมาก ในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความเชื่อมโยงและเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ ยานยนต์ ดิจิทัล อุปกรณ์การแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น 

ทั้งนี้ บีโอไอเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทยในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนจากไต้หวันซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่า 65% ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก 

รวมถึงประสานงานนำสมาชิกสมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) รายใหญ่จากไต้หวัน เดินทางเข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการลงทุนในไทยอย่างเร่งด่วนในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ทำให้มีบริษัท PCB จากไต้หวัน ทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

“ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคมานานกว่า 40 ปี และได้พัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในกลุ่มชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่างๆ จนแข็งแกร่งและครบวงจร จึงมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” 

ปัจจุบันผู้ผลิต PCB ไต้หวัน 20 อันดับแรก ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลกกว่า 35% ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว 10 ราย เช่น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB เป็นต้น เมื่อรวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศจีน และญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนด้วย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยประเทศเวียดนามและมาเลเซีย 

“สำหรับผู้ผลิต PCB รายใหญ่ที่เหลือ เป็นเป้าหมายสำคัญที่บีโอไอจะเร่งเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยบางรายได้ตอบรับและอยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนในเร็วๆ นี้”

การเข้ามาลงทุนของกลุ่มผู้ผลิต PCB จากไต้หวันในรอบนี้ ถือเป็นคลื่นการลงทุนสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้ประเทศเท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับซัพพลายเชนในประเทศ เกิดการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรสมัยใหม่รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่มีศักยภาพได้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมของบีโอไออีกด้วย” นายนฤตม์กล่าว

ทั้งนี้ โครงการลงทุนจากไต้หวันส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) คอมพิวเตอร์พกพา (Notebook) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่นำระบบเซ็นเซอร์ Internet of Things (IoT) หรือระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) มาใช้ เช่นลำโพงอัจฉริยะ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ (Wearable Device) เป็นต้น

โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ส.ค. 2566) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทไต้หวันในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวม 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาทโดยเป็นการผลิต PCB 7 โครงการ เช่น บริษัท Gold Circuit Electronics, ITEQ Corporation, Taiwan Union Technology และเป็นการผลิตโน๊ตบุ๊กให้กับ HP บริษัทคอมพิวเตอร์อันดับ 2 ของโลก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ บริษัท QMB และ Inventec 

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทรายใหญ่จากไต้หวันในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว เช่น บริษัท Delta Electronics, Tatung, Cal-Comp, Techman, Chicony, Primax เป็นต้น