'ปตท.สผ.' ชู เทคโนโลยี CCS ทางเลือกสำคัญดันไทยสู่เป้า Net Zero

'ปตท.สผ.' ชู เทคโนโลยี CCS ทางเลือกสำคัญดันไทยสู่เป้า Net Zero

"ปตท.สผ." ชูเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนทางเลือกประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero โอดการลงทุนยังสูงไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ แนะภาครัฐเร่งออกกฎระเบียบให้ชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายคาร์บอนเครดิต

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวในงานสัมมนา ROAD TO NET ZERO : โอกาสความท้าทายทางธุรกิจ จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" หัวข้อ CARBON CAPTURE to NET ZERO ว่า ทุกคนคงปฏิเสธถึงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่มีความน่ากังวลมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ จะเห็นว่าทวีปยุโรปมีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส และมักจะเห็นอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปอย่างรุนแรง 

นอกจากนี้ เมื่อช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เกิดไฟป่าที่แคนาดา ซึ่งการเกิดไฟป่าเกิดจากสภาพอากาศเสื่อมสภาพ และแห้งแล้งมากทำให้การติดไฟสูง และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังมีการเข้าใจผิดที่ว่า การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเฉพาะในประเทศจีน จะทำให้อากาศดีขึ้น แต่ที่จริงแล้วแย่ลง เพราะไฟฟ้าที่ใช้ในการชาร์จรถ EV มาจากการใช้ถ่านหิน 

อย่างไรก็ตาม จากข้อตกลง Paris Agreement COP21 ได้ระบุว่าถ้าจะให้โลกนี้ยั่งยืนสภาพอากาศไม่แย่อุณหภูมิควรจะไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และหากไม่ทำอะไรเลยอุณหภูมิของโลกจากการปล่อยคาร์บอนออกมา จะทำให้โลกสูงถึง 2.5 องศาเซลเซียส ในปลายศตวรรษนี้ ซึ่งสภาพที่เห็นปัจจุบันจะยิ่งหนักกว่าเดิม 

ทั้งนี้ การกำหนดข้อตกลง COP26 ต่างระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่จะปิด Gap ให้ได้ แต่ล่าสุดมา COP27 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน การขาดแคลนพลังงาน ก๊าซธรรมชาติราคาสูงขึ้น รวมถึงการผันตัวเองไปจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ มาเป็นถ่านหิน อีกทั้ง นโยบายลดโลกร้อนยังไม่มีความคืบหน้า 

ดังนั้น หากวันนี้ถ้าจะดู Target แรกที่อยากเห็นคือ การลดโลกร้อนไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่สิ่งที่เห็นคือ ทั่วโลกมักพูดมากกว่าทำ สิ่งที่ปตท.สผ. มองภาพประเทศไทย การจะช่วยลดคาร์บอนช่วยให้โลกไปถึงเป้าหมายจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนถึง 30 กิกะตัน ภายในปี 2050 ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีการดักจับ และกักเก็บคาร์บอน (CCS) และการใช้เทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) จึงเป็นวิธีที่ดี

"การผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยหรือที่ใดในโลก ก๊าซฯ ที่ผลิตมามีส่วนผสมของคาร์บอนอยู่แล้ว การดักจับคาร์บอนเรายังทำได้ไม่สุด เพราะไม่สามารถเก็บได้ และไม่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น หากทำได้ทั้งโลกจะเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้อุณหภูมิโลกไม่สูงขึ้น และสิ่งสำคัญ การเปลี่ยนรูปคาร์บอนมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ซีเมนต์ แต่น่าเสียดายที่ใช้ปริมาณคาร์บอนเพียงนิดเดียว แต่เป้าหมายลดคาร์บอนทั้งโลก 30 กิกะตัน" 

นายมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญคือ CCS เมื่อผลิตก๊าซฯ ขึ้นมาถึงโรงแยก และเอาไปใช้งาน จะสามารถ Capture คาร์บอนที่ปลายทาง เปลี่ยนเป็นของเหลวด้วยอุณหภูมิ -26 องศาเซลเซียส จะสามารถเคลื่อนย้ายนำกลับมาเก็บใต้ชั้นดินได้ แต่การจัดเก็บข้อสำคัญคือ ชั้นหินใต้ดินจะจัดเก็บได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้ามีการรั่วไหลก็จะละลาย จึงต้องมีการสำรวจ และติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป 

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทย ไม่เร่งใช้วิธีการกักเก็บคาร์บอน เป้าหมายเวที COP27 จะเป็น Net Zero ปี 2065 คงยาก เพราะวันนี้เฉพาะภาคอุตสาหกรรม จำนวนการผลิตพลังงานปล่อยคาร์บอนปี 2022 ถึง 250 ล้านตัน จากปริมาณการปล่อยทั้งประเทศ 320 ล้านตัน ซึ่งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ศึกษาและพบว่าปลูกป่า 1 ล้านไร่ สามารถเก็บคาร์บอนได้ 2 ล้านตัน หากจะลดทั้งหมดจะต้องปลูกป่าถึง 160 ล้านไร่ แต่ประเทศไทยทั้งประเทศมีป่า 321 ล้านไร่ ซึ่งต้องเปลี่ยนประเทศครึ่งประเทศเป็นป่า

นอกจากนี้ การปลูกป่าก็ไม่จบ เพราะต้องบำรุงรักษา จึงต้องอาศัยการแยกคาร์บอนออกมาจัดเก็บ ดังนั้น เมื่อดูการผลิตพลังงาน โดยใช้ก๊าซฯ ปัจจุบันใช้ 3 ส่วน คือ โรงไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งถ่านหินและก๊าซฯ ปล่อย 88 ล้านตัน, อุตสาหกรรมหนัก ปล่อย 66 ล้านตัน และภาคขนส่ง ปล่อย 80 ล้านตัน ส่วนภาคครัวเรือนใช้ไม่เยอะ เพียงแค่ 14 ล้านตัน 

"เราอยู่กับการขนส่งและการสร้างไฟฟ้าเยอะกว่า 75% แม้ภาครัฐจะใช้นโยบายที่จะขยับไปพลังงานหมุนเวียน แต่ยังทำให้ต้นทุนการสร้างพลังงานที่ผลิตไฟฟ้ายังสูง ถ้าเปลี่ยนอุตสาหกรรมระบบหมดเป็นการลงทุนใหม่ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบการใช้พลังงานอีก 30-45 ปี ซึ่ง 10 ปี ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้" 

ทั้งนี้ ระหว่างการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าในไทยยังสำคัญมาก แต่จะต้องทำให้สะอาดโดยแยกคาร์บอนไปจัดเก็บ สิ่งสำคัญที่ยังเป็นอุปสรรค คือ 1. Technology & Cost ซึ่งปัจจุบัน เทคโนโลยี CCS มีโครงการทั่วโลก 350 โครงการ ทั้งอเมริกา ยุโรป แต่ปัญหาคือ ยังมีต้นทุนที่สูงอยู่ 2. Economic & Incentive เพราะการดำเนินการจะต้องมีมูลค่า การตอบแทน เพราะลงทุนสูงเทคโนโลยีดังกล่าวใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 2-3 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้น การนำผลประโยชน์เรื่องของคาร์บอน เครดิตจึงสำคัญ ภาคนโยบายจึงต้องทำให้ชัดเจน 

3. Environment & Public ซึ่งคาร์บอน เครดิต เมื่อลงทุนแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต่อสังคม วันนี้จะเห็นว่า CCS ทั่วโลก จะระบุชัดเจนว่า ภายหลังจัดเก็บแล้วจะต้องวัดปริมาณ พร้อมยืนยันให้ได้ว่าอยู่ในที่จัดเก็บจริง พร้อมกำหนดกฎหมาย ซึ่งยังไม่มีข้อตกลงในประเทศไทย เรื่องภาระผูกพันหลังจากทำแล้ว 4. Regulation & Liability ซึ่งวันนี้ยังไม่รู้ว่าใครจะทำ และทำแบบไหน จะมี Policy อย่างไร ถือเป็นอุปสรรคที่อยากเห็นการแก้ไข 

"เชื่อว่าประเทศไทย จะไปถึงเป้า Net Zero ต้องอาศัยเทคโนโลยี CCS ซึ่ง ปตท.สผ. จะทำโครงการนำร่องที่แหล่งอาทิตย์เริ่มจัดเก็บที่ 1 ล้านตัน เพราะไม่ได้ทำเองมีการร่วมทุนอีก 2 ราย จึงหวังว่าเมื่อภาครัฐเห็นความสำคัญถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้"

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์