ซัพพลายข้าวตึงตัวดัน"ราคาพุ่ง"กรมการค้าภายในยันมีข้าวเพียงพอในประเทศ

ซัพพลายข้าวตึงตัวดัน"ราคาพุ่ง"กรมการค้าภายในยันมีข้าวเพียงพอในประเทศ

อินเดียแบนส่งออกข้าว ดันดีมานด์ตลาดโลกเพิ่ม แห่นำเข้าตุนเติมสต็อก"กรมการค้าภายใน เข้มตรวจสต๊อก ยันเพียงพอบริโภคในประเทศ ด้านกรมการค้าต่างประเทศ เผย ต่างประเทศออกอาการห่วงความมั่นคงอาหาร ชี้อินเดียระงับส่งออกข้าวส่งผล ทำหลายประเทศแห่ซื้อข้าวไทย

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า  จากกรณีที่อินเดียมีมาตรการห้ามส่งออกข้าวเฉพาะที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวสารในตลาดโลก รวมทั้งข้าวไทยมีราคาปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนทุกชนิดข้าวเฉลี่ย 34% ทำให้เกษตรกรที่นำข้าวเปลือกออกจำหน่ายในขณะนี้ ได้รับราคาดี 

โดยราคาข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% (1 ก.ย.2566) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000-16,600 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ย 14,800 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคาตันละ 12,000-13,000 บาท สูงกว่าราคาช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ย 9,300 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 14,800-15,800 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ย 9,750 บาทต่อตัน โดยขณะนี้ราคาเริ่มทรงตัวต่อเนื่องมา ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้ว

สำหรับผลผลิตในฤดูกาล 2566/67 ที่จะออกสู่ตลาดมากในช่วง พ.ย.-ธ.ค. 2566 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 32.35 ล้านตัน แม้จะลดลงจากปีที่ผ่านมา 6%แต่ยังถือว่ามีปริมาณปกติ เพียงพอต่อความต้องการใช้ข้าวภายในประเทศและส่งออก เมื่อแปรสภาพเป็นข้าวสารได้ 21 ล้านตัน บริโภคในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน ส่วนอีก 10-11 ล้านตัน ยังสามารถส่งออกและเก็บสต็อกเพื่อความมั่นคงในประเทศได้ 

เข้มตรวจพ่อค้าสต็อกข้าวตามกฎหมาย

จากรายงานสต็อกข้าวตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว พบว่ายังอยู่ในระดับปกติ และจากการสุ่มตรวจสอบสต็อกข้าวโดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเป็นประจำ ยังไม่พบผู้ส่งออกที่สต็อกข้าวไม่ถึงที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด

ซัพพลายข้าวตึงตัวดัน\"ราคาพุ่ง\"กรมการค้าภายในยันมีข้าวเพียงพอในประเทศ

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาข้าวทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้คือการชะลอการส่งออกของอินเดีย ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบข้าวในประเทศเพิ่มสูงขึ้น สำหรับข้าวถุงตามห้างทั่วไป สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยและสมาคมโรงสีข้าวไทย ได้ให้ความร่วมมือกรมการค้าภายในตรึงราคาจำหน่ายข้าวสารถุงออกไปให้นานที่สุดเพื่อผู้บริโภคภายในประเทศ และยืนยันว่าผู้ประกอบการเข้าถุงมีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่" 

นายวัฒนศักย์ กล่าวอีกว่า กรมการค้าภายในได้ประสานให้ผู้ประกอบการจัดให้มีการโปรโมชั่นสินค้าเป็นระยะอย่างต่อเนื่องหมุนเวียนไปในแต่ละสินค้า แต่ยอมรับว่าข้าวตักตามท้องตลาดมีการปรับขึ้นราคาขึ้นบ้างเล็กน้อย เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุน คาดว่าจะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปี 66/67 กำลังจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการมีการจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร กักตุนสินค้า หรือทำให้ราคาเกิดความปันป่วน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่างประเทศออกอาการห่วงความมั่นคงอาหาร

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่พบสถานการณ์ข้าวตลาดโลกขาดเเคลนเพราะยังมีการส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณว่าหลายประเทศรวมถึงอาเซียนติดตามการบริหารจัดการสต็อกข้าวอย่างใกล้ชิด เช่น เพิ่มจำนวนวันที่เก็บข้าวในสต็อกไว้นานขึ้น เพื่อผลด้านความมั่นคงอาหาร หรือ ห้ามส่งออกข้าว  เช่น กรณีเมียนมา ในส่วนของไทยมีการติดตามสต็อกข้าวและรายงานทุกวัน

ซัพพลายข้าวตึงตัวดัน\"ราคาพุ่ง\"กรมการค้าภายในยันมีข้าวเพียงพอในประเทศ

 

“ดังนั้น จะบอกว่าในตลาดโลกข้าวขาดตลาดไม่จริงเพราะยังมีการส่งออกกันอยู่ เพราะหากต้องการนำเข้าข้าวก็สามารถไปเจรจาขอซื้อจากอินเดียได้ ในประกาศห้ามเปิดช่องไว้ให้ โดยรัฐบาลอินเดียเพียงต้องการเข้ามาบริหารจัดการเองจากเดิมเปิดให้เป็นการค้าแบบเสรี ทั้งนี้เพื่อเหตุผล การดูแลเงินเฟ้อในประเทศและเหตุผลทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ"

ในส่วนของประเทศไทย มีผู้นำเข้าหลายรายแสดงความสนใจนำเข้าข้าวจากไทย เช่น ฟิลิปปินส์ซึ่งกรมได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนนำเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา เบื้องต้นยังไม่มีรายละเอียดว่าฟิลิปปินส์ต้องการความร่วมมือเรื่องข้าวจากไทยเพื่อเป้าหมายนำเข้าปัจจุบัน หรือสร้างความเชื่อมั่นปริมาณข้าวในอนาคต  ขณะที่ญี่ปุ่นได้แสดงความกังวลเรื่องความสามารถส่งออกข้าวว่าไทยจะส่งมอบได้ตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งจากการเยือนญี่ปุ่น ภาครัฐและเอกชนไทยได้ย้ำให้เกิดความมั่นใจว่าไทยจะซัพพลายข้าวให้ญี่ปุ่นได้ตามสัญญาแน่นอน 

รอรัฐบาลใหม่กำหนดนโยบายข้าว

สำหรับปัญหาภัยแล้วจากผลเอลนีโญ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้มีคณะทำงานติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นพบว่าผลผลิตปีนี้ไม่ลดลงมาก แต่ยอมรับว่าเป็นห่วงผลกระทบในปีนี้ซึ่งยังคาดการณ์ไม่ได้ ขณะเดียวกันผลผลิตข้าวนาปรังก็อาจต้องบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสมแต่เชื่อว่า ราคาข้าวที่ดีจะทำให้เกษตกรสามารถบริหารจัดการผลผลิตได้ อย่างไรก็ตาม ต้องรอรัฐบาลใหม่มากำหนดนโยบายทั้งการค้าข้าวกับต่างประเทศและการบริหารจัดการในประเทศ เบื้องต้น มีการติดตามสต็อกข้าวอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว 

โดยหลังจากอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาว ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. ต่อมา วันที่ 25 ส.ค. อินเดียยังได้เพิ่มการควบคุมการส่งออกข้าวด้วยการจัดเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง 20% โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 15 ต.ค.2566 เพื่อสกัดเงินเฟ้อภายในประเทศ ก่อนถึงกำหนดการเลือกตั้งระดับรัฐในช่วงต่อไปของปีนี้ 

ล่าสุดวันที่ 26 ส.ค.กำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำข้าวบาสมาติที่ 1,200 ดอลลาร์ต่อตัน เพื่อสกัดการส่งออกข้าวขาวที่ติดสลากและสำแดงเป็นข้าวบาสมาติ ซึ่งมาตรการดังกล่าวมองว่า อินเดียต้องการบริหารจัดการข้าวในประเทศ เพราะที่ผ่านมาเอกชนอินเดียส่งออกแบบเสรี จึงต้องการควบคุมการส่งออก แต่ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวโลก ทำให้เกิดความกังวลและกระทบด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องข้าวขาดแคลน เพราะอินเดียยังเปิดช่องให้มีการส่งออก โดยมีข้อยกเว้นให้กับประเทศที่จะซื้อข้าวเพื่อความมั่นคงด้านอาหารได้ ทำให้อินเดียมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น

เปิดรายชื่อประเทศเจรจาซื้อข้าวอินเดีย

โดยสิงคโปร์ได้ติดต่ออินเดียเพื่อขอซื้อข้าวขาวแล้ว 1.1 แสนตัน ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติขายเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ภูฏานขอซื้อ 9 หมื่นตัน ขายให้ 7.9 หมื่นตัน และเมอริเซียส ขอซื้อ 1.4 หมื่นตัน อินเดียก็ขายให้ และยังพบว่ามีประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศที่ติดต่อซื้อข้าวจากอินเดีย

“การห้ามการส่งออกข้าวของอินเดียทำให้ไทยโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น เพราะมีหลายประเทศสนใจซื้อข้าวไทย และแนวโน้มราคาก็ดีขึ้น อย่างราคาข้าวขาว 5% ณ วันที่ 29 ส.ค.2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 620 ดอลลาร์ต่อตัน จากราคาเฉลี่ยของปี 2565 อยู่ที่ 437 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ข้าวของเวียดนามก็แพงกว่าไทยแล้วล่าสุด ข้าวขาวเวียดนามอยู่ที่635ดอลลาร์ต่อตันขณะที่ข้าวขาวไทยอยู่ที่620ดอลลาร์ต่อตันเท่านั้นส่งผลให้โอกาสที่ข้าวไทยจะแข่งขันในตลาดโลกและเป็นที่ต้องการของหลายประเทศแน่นอน“

นายรณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยปี 2566 ตั้งเป้าหมายว่าจะส่งออกได้ 8 ล้านตัว เชื่อว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะ 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2566) ไทยส่งออกได้แล้วเฉลี่ย 4 ล้านตัน อีก รวม 5 เดือนจะมีการส่งมอบข้าวตามสัญญาจึงมั่นใจว่าการส่งออกจะเป็นไปตามเป้าหมาย การส่งออกข้าวไทยในช่วง 7 เดือนของปี 2566 มีปริมาณ 4.64 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.45% มูลค่า 2,568 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 20.13% และคิดเป็นเงินบาทมูลค่า 87,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.45% แต่หากดูตัวเลขล่าสุดจากกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรม ตั้งแต่ 1 ม.ค.-29 ส.ค.2566 การส่งออกมีปริมาณ 5.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.91%  จากการหารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยืนยันปี2566มีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องตลอด

ต่างประเทศแห่ขอซื้อข้าวจากไทย 

โดยที่ผ่านมากรมฯการจัดคณะผู้แทนไทยประกอบด้วย ภาครัฐและเอกชนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวและนโยบายการค้าข้าวระหว่างกัน รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดข้าวไทยในตลาดเป้าหมาย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ประสบผลสำเร็จเกินคาดๆ โดยได้สร้างความเชื่อมั่นว่าไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว ข้าวมีเพียงพอ และจะยังส่งออกตามปกติ แม้ว่าอินเดียจะห้ามส่งออกข้าวขาว โดยยืนยันไม่กระทบกับการส่งออกข้าวของไทย ทุกคนสามารถที่จะขอซื้อข้าวจากไทยได้”

ล่าสุดฟิลิปปินส์ ได้ติดต่อเข้ามาแล้ว น่าจะชัดเจนในเดือนก.ย.2566 ขณะที่อินโดนีเซีย ในปีนี้มีความต้องการนำเข้าข้าวอีกกว่า 400,000 ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยอินโดนีเซียยินดีนำเข้าข้าวจากไทยเนื่องจากข้าวไทยมีคุณภาพดี อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับราคาที่เหมาะสมด้วย ญี่ปุ่นยืนยันนำเข้าข้าวไทยต่อเนื่อง และขอให้ไทยส่งมอบข้าวคุณภาพและมาตรฐานตรงตามสัญญาน ส่วนมาเลเซีย ก็สนใจแม้มาเลเซียจะซื้อข้าวจากเวียดนามเป็นอันดับ 1 แต่ก็สนใจซื้อข้าวไทยเนื่องจากราคาถูกกว่าข้าวเวียดนาม