'ค่าโง่โฮปเวลล์' มีลุ้นไม่ต้องจ่าย 2.7 หมื่นล้าน ปมคดีสิ้นอายุความ

'ค่าโง่โฮปเวลล์' มีลุ้นไม่ต้องจ่าย 2.7 หมื่นล้าน ปมคดีสิ้นอายุความ

“คมนาคม” ฟื้นคดีโฮปเวลล์สำเร็จ ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นด้วยปมคดีขาดอายุความ มีผลให้การบอกเลิกสัญญา โฮปเวลล์เรียกค่าเสียหาย 2.7 หมื่นล้านบาทส่อเป็นโมฆะ ลุ้นศาลปกครองกลางนัดพิพากษา 18 ก.ย.นี้

เมื่อปี 2533 เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) หรือ โครงการโฮปเวลล์ โดยลงนามระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 มูลค่าในขณะนั้น 80,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นโครงการประสบปัญหาเงินทุน จนกระทั่ง 30 ก.ย.2540 รัฐบาลสั่งการให้โฮปเวลล์หยุดก่อสร้าง หลังจากนั้นโครงการต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง และ 20 ม.ค.2541 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเลิกสัญญา หลังก่อสร้าง 7 ปี คืบหน้า 13.7%

ความขัดแย้งดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการะงับข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการ และมีคำนิวิจฉัยให้รัฐจ่ายค่าเสียหายกรณีบอกเลิกสัญญาหลังจากนั้นความขัดแย้งดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งวันที่ 22 เม.ย.2562 ให้กระทรวงคมนาคม โดย ร.ฟ.ท.ดำเนินการตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ โดยต้องจ่ายชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% แต่กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.เดินหน้าสู้คดีและนำมาสู่คำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้รับพิจารณาคดีใหม่ และศาลได้สั่งให้งดบังคับคดีทำให้ยังไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและดอกเบี้ย

ศาลปกครองนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก

รายงานข่าวจากศาลปกครองกลาง ระบุว่า วานนี้ (30 ส.ค.2566) เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่มีคำขอพิจารณาคดีใหม่ คดีที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทในคดีโฮปเวลล์

โดยตุลาการได้แถลงด้วยวาจามีความเห็นต่อคดีนี้ว่า คดีที่มีการขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ได้วิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประเด็นของการพิจารณาคดีขาดอายุความนั้น หากนับตั้งแต่วันที่ตั้งศาลปกครองในวันที่ 11 ต.ค.2542 จะต้องมีการยื่นคดีต่อศาลภายใน 1 ปี ครบกำหนดในวันที่ 11 ต.ค.2543 แต่กลับพบว่าทางโฮปเวลล์ได้ยื่นคดีนี้ต่อตุลาการในวันที่ 24 พ.ย.2547 ล่าช้าถึง 4 ปี ทำให้สิทธิในการฟ้องคดีไม่เป็นผลตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ตุลาการได้มีความเห็นในการพิจารณาข้อพิพาทครั้งนี้ด้วยว่า 1.ควรเพิกถอนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่พิจารณาไปก่อนหน้านี้ 2.ยกเลิกคำร้องของผู้ร้องคดีทั้งสอง และ 3.ให้คำสั่งศาลงดบังคับคดีที่เคยพิจารณาไปก่อนหน้านี้ โดยให้มีผลใช้ในช่วงระยะเวลาที่ยังมีการอุทธรณ์คดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำตัดสิน

\'ค่าโง่โฮปเวลล์\' มีลุ้นไม่ต้องจ่าย 2.7 หมื่นล้าน ปมคดีสิ้นอายุความ

ปมขาดอายุความทำคดีพลิก

รายงานข่าว ยังระบุด้วยว่า ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าความพยายามรื้อฟื้นคดีข้อพิพาทโครงการโฮปเวลล์ของกระทรวงคมนาคมเพื่อให้เข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาใหม่เป็นผลแล้ว โดยตุลาการเห็นด้วยกับประเด็นของอายุความ ที่อาจขัดต่อข้อกำหนด เพราะมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า หากนับอายุความเมื่อศาลปกครองเปิดทำการ ที่กำหนดว่าคดีข้อพิพาทก่อนจัดตั้งศาลปกครองนั้น จะต้องยื่นมายังตุลาการภายใน 1 ปี หลังจัดตั้งศาล และมีอายุความไม่เกิน 10 ปี แต่กลับพบว่าคดีโฮปเวลล์นี้ได้มายื่นคำร้องต่อศาลล่าช้ากว่ากำหนด

“ความเห็นของตุลาการยังไม่ใช่คำตัดสินชี้ขาดของคดี อย่างไรก็ดี ต้องรอคำตัดสินของศาลปกครองก่อน แต่หากศาลปกครองพิจารณาตามความเห็นของตุลาการฯ ก็จะมีผลทำให้คดีเรียกร้องค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาโฮปเวลล์นั้นไม่เป็นผล เพราะถือว่าขาดอายุความ”

ด้านนายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวคัดค้านด้วยวาจาในระหว่างพิจารณาคดี โดยระบุว่า การกระทำของกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ที่ยื่นคำร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน อ้างว่าถูกกระทำละเมิด และขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ถือเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ประชาชนผู้ถูกกระทำละเมิดใช้สิทธินี้เท่านั้น เพื่อร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้เสนอเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งไม่รวมถึง ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นการกระทำทั้งหมดนี้ จึงไม่มีเหตุที่นำมาสู่การขอพิจารณาคดีใหม่ตั้งแต่ต้น

นัดอ่านคำพิพากษา18 ก.ย.นี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการพิจารณาคดีครั้งแรกแล้วเสร็จ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่มีคำขอพิจารณาคดีใหม่ คดีที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทในคดีโฮปเวลล์ ในวันที่ 18 ก.ย.2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 10 โดยการพิพากษาของศาลปกครองกลางในครั้งนี้ ยังคงสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้

สำหรับปัจจุบันมูลค่าที่รัฐต้องคืนให้กับโฮปเวลล์จากกรณีการยกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) เป็นวงเงินราว 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินต้นตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดไว้ที่ 11,888 ล้านบาท รวมอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีหรือเกิดขึ้นเฉลี่ยวันละ 2.4 ล้านบาท นับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินในปี 2551