ไอเอ็มเอฟเผยยอดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงสุด 7 ล้านล้านดอลลาร์

ไอเอ็มเอฟเผยยอดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงสุด 7 ล้านล้านดอลลาร์

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ยอดเงินอุดหนุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกพุ่งสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ยอดเงินอุดหนุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกพุ่งสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา แม้ควรให้เงินอุดหนุนด้านดังกล่าวน้อยลง เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ยอดเงินอุดหนุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลพุ่งแตะระดับประวัติการณ์ เนื่องจากรัฐบาลต่าง ๆ สนับสนุนผู้บริโภคและธุรกิจในช่วงที่ราคาพลังงานพุ่งทะยานขึ้นทั่วโลกจากผลพวงของกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครนและเศรษฐกิจฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

รายงานระบุว่า แม้โลกเผชิญความยากลำบากในการยับยั้งไม่ให้โลกร้อนแตะ 1.5 องศาเซลเซียส และหลายพื้นที่ในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนสุดขั้ว แต่ยอดเงินอุดหนุนน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติกลับคิดเป็นสัดส่วนถึง 7.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลต่าง ๆ ใช้จ่ายไปกับการศึกษาในแต่ละปีที่ 4.3% ของจีดีพีและคิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของรายจ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่ 10.9%

รายงานของไอเอ็มเอฟมีขึ้นหลังองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่า เดือนก.ค.เป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์

ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า หากรัฐบาลต่าง ๆ ลดเงินอุดหนุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลและเรียกเก็บภาษีก็จะทำให้ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทและภาคครัวเรือนคำนึงถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อตัดสินใจบริโภคและลงทุน กรณีดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมาก ทั้งยังทำให้อากาศสะอาดขึ้น ลดจำนวนผู้ป่วยโรคปอดและหัวใจ รวมถึงทำให้รัฐบาลมีงบประมาณเหลือมากขึ้น

ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า การลดเงินอุดหนุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลจะป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรได้ 1.6 ล้านรายต่อปี รวมถึงเพิ่มรายได้รัฐบาล 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับสู่แนวทางในการมุ่งสู่เป้าหมายด้านโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยกระจายรายได้ เนื่องจากปกติแล้วการมอบเงินอุดหนุนด้านเชื้อเพลิงให้ประโยชน์กับคนรวยมากกว่าคนจน