‘นายจ้าง’ขอทบทวนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ค้านอัตราเดียว 600 บาท ทั่วประเทศ

‘นายจ้าง’ขอทบทวนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ค้านอัตราเดียว 600 บาท ทั่วประเทศ

“ภาคเอกชน” เสนอทบทวนนโยบายขึ้นค่าแรงขี้นต่ำ 600 บาท ค้านอัตราเดียวทั่วประเทศชี้ลดแรงจูงใจลงทุนเสนอเลื่อนปรับปีหน้า  “ทีดีอาร์ไอ” ชี้ขึ้นค่าแรงเหรียญ 2 ด้าน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ แต่ต้นทุนนายจ้างสูงขึ้น “สมาพันธ์แรงงาน” มองปรับเป็น 600 บาท ใน 4 ปี เป็นไปได้

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลเพื่อไทยมีแผนดำเนินการ โดยจะผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำมาอยู่ที่ 600 บาท ภายใน 4 ปี จากปัจจุบันที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 328-354 บาท เฉลี่ยที่ 337 บาท เป็นอัตราที่เริ่มใช้เมื่อเดือน ต.ค.2565

รัฐบาลเพื่อไทยเคยประสบความสำเร็จด้านคะแนนนิยมจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ เมื่อปี 2554 แต่ภาคเอกชนคัดค้านรุนแรงในประเด็นการเมืองเข้ามาแทรกแทรงคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) รวมถึงค่าแรงอัตราเดียวทั่วประเทศทำให้การลงทุนไม่กระจายไปในภูมิภาค

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันะ 600 บาทและเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี25,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย จะเป็นภาระหนักต่อเอกชนโดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงแม้ทยอยขึ้นใน 4 ปี หรือภายในปี 2570 เป็นการปรับขึ้นสูงถึง 40-60% หรือเฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งเป็นสัญญาณตรงถึงภาคเอกชนที่ต้องเตรียมแบกรับภาระ

รวมถึงมีโอกาสสูงที่จะทำให้นักธุรกิจต่างชาติชะลอการลงทุนในไทย เพราะข้อเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท ถือเป็นการกระชากค่าแรงมากไปจึงต้องกลั่นกรองให้ดี เพื่อไม่ให้เพิ่มภาระหนักให้ภาคเอกชน

ทั้งนี้ การปรับค่าแรงเป็นวันละ 600 บาท จะเป็นไปได้ถ้าเศรษฐกิจขยายตัว 7-10% และเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้นรัฐบาลต้องมองเป้าหมายการทำเศรษฐกิจเติบโตให้ได้ดีก่อน เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีเชื่อว่าภาคเอกชนพร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ

‘นายจ้าง’ขอทบทวนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ค้านอัตราเดียว 600 บาท ทั่วประเทศ

นอกจากนี้เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรงในระดับที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ และควรเพิ่ม Productivityแรงงานควบคู่กัน ซึ่งรัฐบาลใหม่ควรตัดสินใจรอบด้านร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนและลูกจ้างที่ได้รับประโยชน์บนพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีกลไกคณะกรรมการค่าจ้างกลางแต่ละจังหวัดพิจารณาปรับค่าแรงให้สอดคล้องเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่

“หากขึ้นค่าแรงทันทีจะได้ไม่คุ้มเสีย วันนี้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงหลายด้าน หากนายจ้างมีต้นทุนสูงขึ้นบางส่วนอาจรับไม่ไหว ซึ่งอาจชะลอการจ้างงานลดพนักงาน หรือธุรกิจที่ใช้แรงงานมากอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตรวมถึงนักลงทุนใหม่ที่อาจปรับแผนลงทุนประเทศอื่น ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจวงกว้าง ดังนั้นจึงต้องหารือหลายส่วนและหวังว่าจะทบทวนเพื่อให้เกิดรูปแบบที่ทุกภาคส่วนยอมรับ"

แนะเลื่อนขึ้นไปปีหน้าห่วงเศรษฐกิจชะลอ

นายธนิต โสรัตน์ สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจากองค์ประกอบหลายส่วน คือ 1.ภาวะเศรษฐกิจแต่ละจังหวัด 2.อัตราเงินเฟ้อ 3.ความสามารถการจ่ายของนายจ้าง ซึ่งทุกจังหวัดมีคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่พิจารณาการปรับค่าจ้างตามเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ค่าจ้างแต่ละจังหวัดปรับขึ้นแตกต่างกัน ยกเว้นปี 2555-2556 ที่รัฐบาลเพื่อไทยใช้นโยบายค่าแรงอัตราเดียวทั่วประเทศที่ 300 บาท 

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายเพื่อไทยเป็นวันละ 600 บาท ภายใน 4 ปี เท่ากับต้องปรับขึ้นรวม 246-262 บาท หรือปรับขึ้นปีละ 61.5-65.5 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จึงเห็นว่ารัฐบาลยังไม่ควรพิจารณาปรับขึ้นในปี 2566

ทั้งนี้ การประกาศจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 1.8% และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลดเป้าหมายจีดีพีทั้งปีลงมาเหลือ 2.5-3.0% รวมทั้งภาคการส่งออกในช่วง 7 เดือน แรกของปีนี้ ติดลบ 5.5% สถานการณ์ดังกล่าวจึงมีผลต่อผลดำเนินของเอกชน

รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรทยอยปรับขึ้นในปี 2567-2570 และควรประกาศว่าแต่ละปีจะปรับขึ้นอัตราเท่าใดเพื่อให้ไปจบที่วันละ 600 บาท ในระยะ 4 ปี เพื่อให้ภาคเอกชนได้เตรียมตัว และให้สหภาพแรงงานรับรู้ล่วงหน้าเพื่อลดการชุมนุมเรียกร้องค่าแรง

ค้านค่าแรง600บาททั่วประเทศนอกจากนี้ มีประเด็นการปรับค่าแรงขึ้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท จะเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศเหมือนที่พรรคเพื่อไทยเคยปรับเมื่อปี 2555-2556 หรือไม่ โดยภาคเอกนเห็นว่าไม่ควรใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศอีก เพราะแรงจูงใจการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลท่าเรือจะลดลง ซึ่งขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้อัตราเดียวทั่วประเทศอีกหรือไม่ โดยปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำมี 9 อัตรา ครอบคลุม 77 จังหวัด ตั้งแต่วันละ 328-354 บาท

สำหรับการใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ 600 บาท จะส่งผลให้การลงทุนใหม่เลือกลงทุนในพื้นที่ภาคกลางและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง โดยหลักสากลจะกำหนดค่าแรงในละพื้นที่ไม่เท่ากัน เช่น เวียดนามกำหนดค่าจ้างแบ่งเป็น 23 พื้นที่ และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ใช้อัตราเดียวทั่วประเทศ เช่น สิงคโปร์ 

ขึ้นค่าแรงนโยบายเหรียญ2ด้าน

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ทุกพรรคการเมืองและทุกรัฐบาลมีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานไม่เป็นไปตามกลไกตลาดและต้นทุนการผลิตที่ปัจจุบันต้องแบกรับมาก อีกทั้งตลาดส่งออกที่จะขยายสินค้าก็มีจำกัด

“ไทยมีผู้เอสเอ็มอีมากที่กังวลค่าแรงขั้นต่ำ เพราะที่ผ่านมามีความพยายามขึ้นตามที่พรรคการเมืองกำหนด แต่ เอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียน หรือความสามารถในการแข่งขันเมื่อทเียบกับประเทศอื่น การหาเสียด้วยการขึ้นค่าแรงจะเป็นอันตรายเพราะกระทบผู้ประกอบการ”

ทั้งนี้ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำอไม่สอดคล้องค่าครองชีพ และช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแรงงานมากกว่า 4 ล้านคนที่ไม่ได้ปรับค่าแรง

สำหรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ของพรรคเพื่อไทย เหมือนเหรียญ 2 ด้าน โดยการได้ค่าแรงเพิ่มจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิต แต่อีกด้านต้นทุนนายจ้างสูงขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าหากค่าแรงเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพแรงงานจะมีปัญหา รวมทั้งการเพิ่มค่าแรงอาจไม่ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยถ้าเป็นเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้ออาจไม่สูงมาก นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำควรบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีประสิทธิภาพสูง และควรครอบคลุมการเลี้ยงดูคู่สมรสและบุตรด้วย โดยค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ค่าจ้างเริ่มต้นของแรงงานมีฝีมือในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

“ตอนนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่เหมาะสม ไม่ทันค่าครองชีพ ไม่สอดคล้องผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดี เช่น แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น การขึ้นค่าจ้างทำให้แรงงานได้ประโยชน์ 3.2 ล้านคน หรือ 30% ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้แรงงาน ส่วนข้อเสีย คือ ผลกระทบต่อนายจ้างและอาจมีการปลดแรงงาน”

แนะรัฐมีมาตรการเพิ่มทักษะแรงงาน

นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งดีแต่อาจเป็นไปได้ยาก เพราะเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนมากกว่า 90% ของผู้ประกอบการในไทยกำลังมีปัญหาขาดเงินทุน ขาดตลาด ขาดทักษะ และขาดแรงงาน ซึ่งความอยู่รอดของเอสเอ็มอีต้องได้รับสนับสนุนจากภาครัฐหลายเรื่อง

“การเพิ่มค่าแรงแรงงานเป็นสิ่งดีเพราะค่าครองชีพสูงมากขึ้น ค่าแรงที่ได้รับไม่เพียงพอใช้จ่าย แต่การเพิ่มค่าแรงต้องสนับสนุนด้านตลาดให้ผู้ประกอบการ เพราะถ้าขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้นจะทำให้มีรายได้ที่ช่วยเพิ่มค่าแรงได้และผู้ประกอบการอยู่รอด ขณะเดียวกันภาครัฐต้องสนับสนุนงบประมาณยกระดับศักยภาพทักษะแรงงาน” 

หาเสียง“ค่าแรง”อันตรายต่อประเทศ

นายชาลี ลอยสูง ผู้แทนลูกจ้างจากสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) Thai Labour Solidarity Confederation (TLSC) หรือคณะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า เสนอให้ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมอยู่ที่วันละ 492 บาท รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลใหม่เปลี่ยนคำนิยามจากค่าแรงขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า โดยควรออกกฎหมายให้ทุกบริษัทมีโครงสร้างค่าจ้าง และแต่ละบริษัทควรปรับค่าแรงขั้นต่ำรายปีตามผลงานประเมิน ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อและบวกด้วยการประเมินผลงานของแรงงาน

“นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลเพื่อไทยวางกรอบที่วันละ 600 บาท ภายในปี 2570 ถือเป็นการปรับขึ้นเกือบ 20% ซึ่งหากมองตามหลักการอาจมองว่าเป็นไปได้ แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาอัตราเงินเฟ้อหรือมีวิกฤติอะไรบ้าง  เช่น สงครามในต่างประเทศ โควิด-19 รวมถึงอัตราเงินเฟ้อไทยที่เคยสูงเกือบ 8% และสุดท้ายก็ไม่มีเงินพอใช้จ่ายกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น”

ทั้งนี้รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปลดแรงงานเพราะไม่มีทุนพอจ่ายค่าจ้าง ดังนั้นพรรคการเมืองไม่ควรนำค่าแรงมาหาเสียง