เปิดแผนรับมือน้ำแล้ง ‘อีอีซี’ สร้างแซนด์บ็อกซ์ลุยเอลนีโญ

เปิดแผนรับมือน้ำแล้ง ‘อีอีซี’ สร้างแซนด์บ็อกซ์ลุยเอลนีโญ

สถานการณ์แล้งในปี 2566-2567 มีความน่ากังวลเพิ่มมากขึ้นเมื่อประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ “เอลนีโญ” ตั้งแต่เดือน ก.ค.2566 ซึ่งทำให้ภาคเอกชนตื่นตัวทำงานร่วมกับภาครัฐในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.2566 เพื่อให้ภาครัฐเตรียมแผนรับมือ เพราะเอลนีโญจะเกิดขึ้นต่อเนื่องถึง 3 ปี

รวมทั้งล่าสุดสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้หารือการรับมือภัยแล้งร่วมกับกกร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 โดยสรุปมาตรการรับมือในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังนี้ 

สทนช. ให้จัดทำมาตรการรองรับฤดูแล้ง 10 มาตรการ ฤดูฝน 12 มาตรการ โดยผ่านความเห็นชอบจาก กนช.แล้ว รวมทั้งขอให้ กรมชลประทาน (ชป.) ทำแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปีของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางการแบ่งปันน้ำฯ ปี66/67 เพื่อพิจารณา วิเคราะห์ แนวทางและหลักเกณฑ์การแบ่งปันน้ำจากแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ไปยังอ่างฯ ประแสร์ จ.ระยอง

กรมทรัพยากรน้ำ ศึกษาพื้นที่เหมาะสมต่อการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในภาคตะวันออก ได้แก่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง, อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี, อ.บางน้ำเปรี้ยว และ อ.พนมสารคามจ.ฉะเชิงเทรา

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมเครื่องบินคาราแวน ณ หน่วยปฏิบัติการระยอง 3 ลำ และหน่วยปฏิบัติการสระแก้ว 2 ลำ พร้อมขึ้นทำฝนหลวง รวมทั้งทำแผนการบินฝนหลวงในพื้นที่ขอรับบริการในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง-เล็ก 26 แห่ง ในพื้นที่นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด 

นอกจากนี้ ให้เสนอแผนการบินฝนหลวงเพิ่มเติมในช่วงฤดูฝน และเสนองบประมาณการดพเนินการทำฝนหลวงเพิ่มเติมคู่กับแผนการบินให้กับ สทนช.

กรมชลประทาน จัดทำ Water Balance ของแต่ละอ่างเก็บน้ำใหม่รายจังหวัด โดยใช้ Worst case มาประเมินคู่กับปริมาณน้ำผันที่ส่วนราชการควบคุมได้และพิจารณาให้สอดคล้องกับมาตรการที่ทำไว้ ได้แก่ 

ชลบุรี อ่างเก็บน้ำบางพระ ให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ลดใช้น้ำอ่างบางพระ โดยให้กปภ.และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ กระจายการใช้น้ำดิบจากทุกอ่างเก็บน้ำ ผันน้ำส่วนเกินจากคลองพระองค์ไชยานุชิต เติมอ่างบางพระ และผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง เติมอ่างบางพระ 

อ่างหนองค้อและอ่างบ้างบึง ให้ระงับดำเนินการต่างตอบแทนขุดดินแลกน้ำเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำโดยเฉพาะค่าความขุ่น 

อ่างเก็บน้ำพื้นที่พัทยา ให้ กปภ.พัทยา ลดใช้น้ำจากโรงสูบแรงต่ำบางพระ 3 เหลือ 30,000-40,000 ลบ.ม.ต่อวัน (ลดลง 50%) โดยใช้น้ำในส่วนที่ลดลงจากอ่างหนองปลาไหล และอ่างหนองกลางดง

ระยอง ประกอบด้วย อ่างประแสร์ให้สูบกลับน้ำคลองสะพานเติมอ่างประแสร์ สูบผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี เติมอ่างประแสร์ ดำเนินการซ่อมและทดสอบระบบแล้วใช้กรณีเมื่อการสูบกลับจากคลองสะพานตามศักยภาพระบบและปริมาณน้ำที่สูบแล้วแต่ไม่เพียงพอ

อ่างหนองปลาไหล สูบผันน้ำอ่างฯ ประแสร์-อ่างฯ คลองใหญ่ ช่วง มิ.ย.-ธ.ค.2566 รวม 78 ล้านลบ.ม. และสูบผันน้ำแม่น้ำระยอง

อ่างคลองระโอก ให้ กปภ.ปากน้ำประแสร์ ใช้น้ำจากอ่างคลองระโอกลดลง 40% เป็น 6,000 ลบ.ม.ต่อวัน จาก 10,000 ลบ.ม.ต่อวัน โดยส่วนที่ลดลงในเขตพื้นที่จันทบุรี ให้ใช้น้ำจากคลองขุดทดแทน

ฉะเชิงเทรา ให้ กปภ.ฉะเชิงเทรา และ กปภ.บางปะกง รับน้ำดิบจากอีสท์วอเตอร์ มาผสมกับน้ำแหล่งน้ำอื่น รวมทั้งให้ กปภ.บางคล้า สูบใช้น้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต และรับน้ำประปาจากการประปานครหลวง (กปน.) ให้ กปภ.บางคล้า และ กปภ.พนมสารคาม ใช้น้ำจากฝายท่าลาดผลิตน้ำประปาส่งมาที่พื้นที่ อ.บางคล้า และ อ.พนมสารคาม

กรมชลประทาน วางแผนส่งน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) บึงฝรั่ง ลงคลองพระองค์ไชยานุชิตไม่น้อยกว่า 8 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือส่งน้ำเป็นรอบเวร เติมสระสำรองน้ำของ กปภ.ฉะเชิงเทราและกปภ.บางปะกง รวมทั้งหากในฤดูฝน อีสท์วอเตอร์สูบน้ำมาเติมอ่างบางพระได้เพียงพอให้ส่งน้ำให้พื้นที่ชลบุรีและส่งกลับไปช่วย กปภ.ฉะเชิงเทรา และกปภ.บางปะกง ช่วงฤดูแล้ง2566/67

นอกจากนี้ ให้กรมชลประทานทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี โดยเฉพาะอ่างบางพระ อ่างหนองปลาไหล และอ่างประแสร์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเอลนีโญ ที่มีวัฏจักรที่ยาวนานและผันผวนขึ้น

ขณะที่ กกร.เสนอมาตรการเร่งด่วนให้กำหนดแนวทางการผันน้ำโครงข่ายให้เต็มประสิทธิภาพสอดคล้องการกำหนดโควต้าน้ำผัน/น้ำฝาก รวมทั้งตั้งงบประมาณเพื่อผันน้ำ เช่น ค่าไฟ ค่าปฏิบัติการ 

ส่วนมาตรการสร้างความมั่นคงน้ำภาคตะวันออกระยะยาวให้เร่งโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี และขอให้ทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีโดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองใน EEC และพื้นที่อื่น

เปิดแผนรับมือน้ำแล้ง ‘อีอีซี’ สร้างแซนด์บ็อกซ์ลุยเอลนีโญ

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.ได้หารือเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2566 สรุปว่าภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าคาดและน่ากังวลจะกระทบเศรษฐกิจ โดยปริมาณน้ำฝนสะสมช่วง ม.ค.-ก.ค.2566 ต่ำกว่าระดับปกติทุกพื้นที่ ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือนก.ค.2566 อยู่ในระดับวิกฤติในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก

“กกร.ประเมินว่าภัยแล้งอาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 53,000 ล้านบาท จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภัยแล้งและผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 2566 ถึงครึ่งแรกของปี 2567”

ทั้งนี้การดำเนินการใน EEC รูปแบบ EEC sandbox ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะพื้นที่ควรผลักดันเป็นรูปธรรม เพื่อประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ซึ่งการแก้ปัญหานี้จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงของปัญหาบนพื้นฐานที่ประเทศยังพึ่งพาภาคเกษตร