‘สพพ.’เพิ่มช่วยเหลือ สปป.ลาว ฝึกคนขับรถไฟ - ทำแผนธุรกิจสถานี‘บ้านคำสะหวาด’

‘สพพ.’เพิ่มช่วยเหลือ สปป.ลาว  ฝึกคนขับรถไฟ - ทำแผนธุรกิจสถานี‘บ้านคำสะหวาด’

“สพพ.” เตรียมเพิ่มความช่วยเหลือ สปป.ลาว ฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟ – ช่วยทำแผนธุรกิจเตรียมเปิดสถานีบ้านคำสะหวาด เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ขออนุมัติเงินกู้ 1.8 พันล้าน ให้ สปป.ลาว พัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) เชื่อมนครพนม – ลาว – เวียดนาม เพิ่มมูลค่าการค้า 3 ประเทศ

นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ "สพพ." เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ ก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 (รถไฟไทย-ลาว)  สถานีรถไฟเวียงจันทน์ บ้านคำสะหวาด ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการระยะแรกของเส้นทาง (หนองคาย - ท่านาแล้ง) ว่าขณะนี้โครงการแล้วเสร็จเรียบร้อยและอยู่ระหว่างรอกำหนดการจากทั้งสองประเทศคือไทย และสปป.ลาวที่จะกำหนดให้มีการเปิดใช้สถานีอย่างเป็นทางการ

โดยโครงการนี้ถือเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางรถไฟแห่งชาติลาว (National Railway Development Strategy) ที่ต้องการพัฒนาการขนส่งสินค้าในปริมาณมากทางราง เชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาวเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในอนาคตทั้งในแง่ของการค้า การท่องเที่ยว และการเดินทางที่จะเชื่อมโยงจากไทยไปยังสปป.ลาว และทางตอนใต้ของประเทศจีน

โดยจากการหารือกันระหว่าง สพพ. และตัวแทนรัฐบาลจาก สปป.ลาว ซึ่งได้ร้องขอให้ไทยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในเรื่องของการฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟ เนื่องจากตามกฎหมายของ สปป.ลาว คนขับรถไฟในประเทศต้องเป็นคนสัญชาติลาว โดยเราพร้อมจะให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมโดยการรถไฟแห่งชาติลาว (รฟล.)จะส่งพนักงานมาฝึกอบรมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 5 – 10 คน นอกจากนั้นยังประสานให้ไทยช่วยเหลือเรื่องการจัดทำแผนธุรกิจสำหรับสถานีรถไฟเวียงจันทน์ บ้านคำสะหวาด เพื่อให้สถานีที่จะเปิดบริการมีรายได้จากการบริหารงานในเชิงธุรกิจซึ่งทั้งสองเรื่องนี้คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เร็ว โดยนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด)ของ สพพ.เพื่อขออนุมัติเป็นโครงการช่วยเหลือเพิ่มเติมซึ่งสามารถทำได้เร็วและใช้งบประมาณไม่มากนัก

‘สพพ.’เพิ่มช่วยเหลือ สปป.ลาว  ฝึกคนขับรถไฟ - ทำแผนธุรกิจสถานี‘บ้านคำสะหวาด’

“เรื่องรถไฟและระบบรางยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของประเทศลาว โครงการความช่วยเหลือที่จะมีต่อเนื่องทั้งในเรื่องของการฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟ และการให้ความช่วยเหลือในการทำแผนธุรกิจของสถานีคำสะหวาดถือเป็นการให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องเพื่อให้ลาวมีความพร้อมที่จะเปิดบริการสถานีรถไฟแห่งใหม่มากที่สุด”

สำหรับรายละเอียดของโครงการ สถานีรถไฟเวียงจันทน์ บ้านคำสะหวาดถือเป็นโครงการ หลัก เริ่มจากสถานีท่านาแล้งถึงสถานีเวียงจันทน์ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร ) ถูกออกแบบเพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าด้วยระบบรางขนาด 1 เมตร เชื่อมกับทางรถไฟขนาดเดียวกันที่มาจากจังหวัดหนองคาย เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อปี 2562 ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 994.68 ล้านบาท

‘สพพ.’เพิ่มช่วยเหลือ สปป.ลาว  ฝึกคนขับรถไฟ - ทำแผนธุรกิจสถานี‘บ้านคำสะหวาด’

โดยสถานีรถไฟสายนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมรถไฟ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว (Lao Railway Authority, Ministry of Public Works and Transport (MPWT) โดยได้รับเงินกู้สนับสนุนจากรัฐบาลไทย ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) 

นอจากนี้โครงการยังคงประกอบไปด้วยงานระบบอาณัติสัญญาณ บ้านพักเจ้าหน้าที่ ทางเข้าสถานีเวียงจันทน์ งานจุดตัดทางรถไฟ และงานก่อสร้างสถานี โดยรูปแบบของสถานีเป็นอาคาร 2 ชั้น 2 ชานชาลา โดยชั้น 1 มีพื้นที่ 6,300 ตารางเมตร และชั้น 2 มีพื้นที่ 3,600 ตารางเมตร มีพื้นที่ชานชาลาอีก 3,600 ตารางเมตร  งานก่อสร้างอาคารสำนักงานกรมรถไฟ และอาคารที่พักเจ้าหน้าที่ ทำให้กรมรถไฟมีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้น รองรับการขยายตัวของสำนักงานกรมรถไฟของลาวในอนาคตด้วย

 

ไทยให้ความช่วยเหลือทางการเงิน สปป.ลาวแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับภาพรวมของการให้ความช่วยเหลือเงินกู้แก่ สปป.ลาว นายพีรเมศร์กล่าวว่าปัจจุบัน สพพ.ให้ความช่วยเหลือแก่ สปป.ลาวเป็นวงเงิน (FA)รวมแล้ว 21 โครงการ รวม 15,322.86 ล้านบาท คิดเป็น 69.7% ของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินทั้งหมดที่ สพพ.ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนั้นใน สปป.ลาวไทยยังให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ 12 โครงการ รวมวงเงิน 189 ล้านบาท โดยที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ของ สปป.ลาวได้เข้ามาอบรมเพิ่มความรู้ในไทยทั้งสิ้น 206 คนในหลักสูตรต่างๆที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ การเงิน และการค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สพพ.มีโครงการในสปป.ลาวที่อยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่อนุมัติวงเงินกู้ให้แก่ สปป.ลาว ได้แก่

1.โครงการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก – จุดผ่านแดนนาเพ้า   โดยเส้นทางนี้เมื่อสร้างเสร็จจะเชื่อมโยง 3 ประเทศไทย – ลาว – เวียดนาม จากชายแดนไทยที่ จ.นครพนม ไปถึงประเทศเวียดนาม ที่เมืองกวางบิงห์ ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร วงเงิน 1,833.74 ล้านบาท คาดว่าเมื่อได้รับอนุมัติวงเงินกู้แล้วจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 36 เดือน

‘สพพ.’เพิ่มช่วยเหลือ สปป.ลาว  ฝึกคนขับรถไฟ - ทำแผนธุรกิจสถานี‘บ้านคำสะหวาด’

โครงการก่อสร้างถนนจะเริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม ประมาณ 17 กิโลเมตร (ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3) เชื่อมต่อไปยังเมืองยมมะลาด เมืองบัวละพา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป.ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนสากลจาลอ เมืองกวางบิงห์ (Quang Binh Province) ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่าง 3 ประเทศได้ในอนาคต

2.โครงการก่อสร้างสะพานเชียงแมน – หลวงพระบาง ซึ่งเป็นโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงระยะทางประมาณ 600 เมตร วงเงิน 1,700 ล้านโดยสะพานนี้จะเชื่อมโยงกับถนนเส้นทางใหม่ที่มาจาก จ.น่านของไทยผ่าน เมืองหงสา-บ้านเชียงแมน ในสปป.ลาว ระยะทาง 114 กม. ซึ่งเส้นทางนี้เปิดใช้งานแล้วในปัจจุบัน โดยประเทศได้สนับสนุนเงินในการสร้างถนนดังกล่าววงเงิน 1,977 ล้านบาททั้งในรูปแบบเงินกู้และเงินให้เปล่า

โดยปัจจุบันโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชียงแมน-หลวงพระบางมีการออกแบบโครงการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะเสนอขออนุมัติวงเงินกู้ให้กับ สปป.ลาวสร้างสะพานนี้

โดยจะต้องขออนุมัติการปล่อยกู้เพิ่มเติมจาก ครม.ในช่วงปี 2567 – 2568 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการหลังจากนี้อีกประมาณ 2 ปี ซึ่งเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเพิ่มความสะดวกสบายในการสัญจรระหว่าง จ.น่าน-เมืองหลวงพระบาง ที่เป็นเมืองมรดกโลกได้ง่ายมากยิ่งขึ้น