โอกาสผู้ประกอบการจากการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในท่าเรือแหลมฉบัง

โอกาสผู้ประกอบการจากการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในท่าเรือแหลมฉบัง

ในปัจจุบัน การลดก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยจากธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นมากขึ้น ส่งผลให้ท่าเรือหลายแห่งเริ่มปรับตัวเพื่อก้าวสู่ท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือท่าเรือสีเขียว (Green Port)

เช่น ท่าเรือรอตเตอร์ดัม ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีแนวทางการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 49% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2560 

สำหรับไทย ท่าเรือแหลมฉบังได้เตรียมแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับแนวทางท่าเรือสีเขียว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญ คือ การใช้รถบรรทุกไฟฟ้า ที่มีการปลดปล่อยมลพิษน้อย เนื่องจากในปัจจุบัน ปริมาณรถบรรทุกขนส่งตู้สินค้าเข้าออกท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลมีจำนวน 3.5-3.7 แสนคันต่อเดือน หรือประมาณ 10,000 คันต่อวัน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษจากการขนส่งสินค้าอย่างมาก

Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในท่าเรือแหลมฉบังปรับเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าราว 10% หรือประมาณ 1,000 คันต่อวัน จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงได้ราว 800 ล้านบาทต่อปี และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 4.8 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ราว 6 ล้านต้น ซึ่งเป็นการประเมินจากการขนส่งสินค้าด้วยระยะทางเฉลี่ยราว 1.5 แสนกิโลเมตรต่อปี ด้วยอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลที่ 3 กิโลเมตรต่อลิตร โดยแม้ว่ารถบรรทุกไฟฟ้าจะมีราคาแพงกว่ารถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาปภายในประมาณ 2 เท่า แต่ประเมินว่าผลประโยชน์สุทธิจากการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าจะสามารถชดเชยส่วนต่างราคารถและค่าใช้จ่ายในการใช้งานระหว่างรถ EV และ ICE ภายใน 4 ปี

นอกจากนี้ Krungthai COMPASS มองว่า การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 1,000 คันต่อวัน จะสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยราว 1.3 หมื่นล้านบาท ตลอดอายุการใช้งาน 20 ปี โดยคาดว่า ผู้ประกอบการจะมีรายได้จากการขายรถบรรทุกไฟฟ้าราว 5.8 พันล้านบาท และรายได้จากการขายมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ราว 7.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าที่ต้องเปลี่ยนทุก 8-10 ปี รวมถึงผู้ประกอบการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้า ผู้ประกอบการผลิตยางยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าด้วย

อย่างไรก็ดี ธุรกิจรถบรรทุกไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ยังต้องการความร่วมมือเชิงนโยบายระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs 

ดังนั้น ภาครัฐควรออกนโยบายสนับสนุนการผลิตและการใช้รถบรรทุกไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมองค์ความรู้และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ขณะที่ผู้ประกอบการควรวิจัยและพัฒนารถบรรทุกไฟฟ้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย อาทิเช่น รถบรรทุกไฟฟ้าอัจฉริยะขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี AI และระบบ GPS เป็นต้น ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัยและประสิทธิภาพการขนส่งในท่าเรือ ส่วนผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนและแบตเตอรี่ลิเธียม โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ควรเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการชิ้นส่วนรถบรรทุกไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต