ส่อง 10 อันดับค่าใช้จ่ายคนไทย ผลสำรวจชี้ ‘รายได้’ ไม่พอ ‘รายจ่าย’

ส่อง 10 อันดับค่าใช้จ่ายคนไทย  ผลสำรวจชี้ ‘รายได้’ ไม่พอ ‘รายจ่าย’

ผลสำรวจเผยค่าใช้จ่ายรายเดือนคนไทย ยุครายได้เพิ่มไม่ทันรายจ่าย 10 ข้อที่คนไทยควักจ่ายเป็นประจำทุกเดือน พบจ่ายค่าอาหาร - เครื่องดื่ม มากสุด 22% ค่าที่อยู่อาศัย 12% ส่วนรายจ่ายด้านการบันเทิงประมาณ 5% ใกล้กับค่าใช้จ่ายทางด้านศาสนา

ผลการสำรวจ สภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมามีข้อมูลที่น่าสนใจหลายด้าน นอกจากเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ครัวเรือนไทยมีหนี้โดยเฉลี่ยถือว่าสูงที่สุดในรอบ 15 ปี อยู่ที่ 559,408.7 บาทต่อครัวเรือน มีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระเฉลี่ยที่ 16,742 บาทต่อเดือน

โดยเป็นหนี้ในระบบ 80.2% และหนี้นอกระบบ 19.8% โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 31.2% ระบุว่าในปัจจุบันเป็นทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ

ข้อมูลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศยังระบุว่ามีครัวเรือนที่มีรายได้น้อกว่ารายจ่ายถึง 65.8% ขณะที่อีก 32% บอกว่ามีรายได้และรายจ่ายเท่ากัน ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่ารายจ่ายนั้นมีเพียง 2.2% ซึ่งรายได้ที่น้อยกว่ารายจ่ายทำให้มีแนวโน้มที่จะกู้ยืมเงินเพิ่มมากขึ้นทำให้หนี้สินของแต่ละครัวเรือนเพิ่มขึ้นไปอีก

10 อันดับค่าใช้จ่ายคนไทย

“กรุงเทพธุรกิจ” ลงลึกไปดูผลสำรวจในรายละเอียดว่าค่าใช้จ่าย 10 อันดับแรกของคนไทยนั้นมีอะไรบ้าง แล้วคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน

1.ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร และเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) 22.9%

2.ค่าที่อยู่อาศัย (ค่าเช่า,สาธารณูปโภค,เครื่องใช้,เครื่องเรือน) 12.5%

3.ค่าเดินทาง/ยานพาหนะ (ค่าเชื้อเพลิง /บำรุงรักษา) 9.8%

4.ของใช้ส่วนบุคคล (สบู่,ยาสีฟัน,ยาสระผม,เครื่องสำอาง เป็นต้น) 9.5%

5.ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา 7.9%

6.ค่าใช้จ่ายการสื่อสาร 7.4%

7.เวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาล 7%

8.ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว 6.7%

9.ยาสูบ /เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 5.9%

10.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนา 5.5% ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ใกล้เคียงกับ กิจการบันเทิง จัดงานพิธี และการจัดเลี้ยง

 

ส่อง 10 อันดับค่าใช้จ่ายคนไทย  ผลสำรวจชี้ ‘รายได้’ ไม่พอ ‘รายจ่าย’

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจหนี้ครัวเรือนล่าสุด ยังสะท้อนปัญหาของหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากวิกฤติสงครามการค้าในปี 2562 วิกฤติโควิดในปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 จนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวแต่ยังถือว่าฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น

 

เมื่อรวมกับปัจจัยในเรื่องค่าครองชีพสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้รายจ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจนต้องมีการกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย

 

โดยข้อมูลการสำรวจพบว่าประชาชนพบว่าครัวเรือนที่มีหนี้ในปีนี้อยู่ที่ 99.8% และครัวเรือนที่ไม่มีหนี้มีเพียง 0.2%