เปิดค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยเดือนก.ค.ยังสูงเกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือน

เปิดค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยเดือนก.ค.ยังสูงเกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือน

พลังงาน และอาหาร ยังกดดันค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยสูง เผย เดือน ก.ค.คนไทยควักกระเป๋าใช้จ่าย 18,061 บาทต่อครัวเรือน

อัตราเงินเฟ้อทั่วเดือน ก.ค.สูงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 7.61 % แต่ก็ปรับลดลงเป็นครั้งแรกของปี 65 ปัจจัยหลักยังคงเป็นสินค้ากลุ่มพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 33.82 % แม้ว่าน้ำมันบางชนิด เช่น แก๊สโซฮอล์ เบนซิน จะลดลง แต่ดีเซลที่เป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งยังคงเดิม รวมถึงก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 8.02% 

ขณะที่หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 7.35% สินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น หมวดเคหสถาน เพิ่ม 8.42% โดยเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม

เมื่อโฟกัสลงดูค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในเดือนก.ค. ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ พบว่า  ค่าใช้จ่ายรายเดือน รวมเฉลี่ย 18,061 บาท  ซึ่งค่าใช้จ่ายของครัวเรือน แบ่งออกเป็น 14 ประเภท

โดยค่าใช้จ่ายสูงสุด  คือ อันดับ  1 คือ ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 4,350 บาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 24 .08 %

อันดับ 2 เป็นค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้า  3,961 บาท

อันดับ 3  เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 1,760 บาท

อันดับ 4 อาหารบริโภคในบ้าน delivery 1,607 บาท

อันดับ 5 อาหารบริโภคนอกบ้าน ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง KFC pizza 1,236 บาท

อันดับ 6  ค่าแพทย์ ค่ายาและค่าบริการส่วนบุคคล 969 บาท

อันดับ 7 ค่าผักและผลไม้ 943 บาท

อันดับ 8  ค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียนและการกุศลต่างๆ 759 บาท

อันดับ 9 ค่าข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 667 บาท

อันดับ 10 เครื่องปรุงอาหาร 439 บาท

อันดับ 11 เครื่องดื่มไม่มีอัลกอฮอล์ 386 บาท

อันดับ 12 ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 375 บาท

อันดับ 13 ค่าไข่และผลิตภัณฑ์นม 370 บาท

อันดับ 14 ค่าบุหรี่ ค่าเหล้า ค่าเบียร์ 240

เมื่อแยกออกเป็นสัดส่วนการบริโภคต่อครัวเรือน   พบว่า สินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วนถึง 58.99 % ขณะที่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วน 41.01 % ซึ่งจะเห็นว่า ราคาพลังงานยังเป็นส่วนสำคัญต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทย แม้ว่าในเดือนนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิด เช่น แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน จะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และก๊าซหุงต้ม ไม่ได้ปรับลดลง ซึ่งพลังงานเหล่านี้ เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตและการขนส่งสินค้า