'กกร.' ส่งหนังสือจี้ นายกฯ เสนอ 2 แนวทาง 'ลดค่าไฟ' งวด ก.ย.-ธ.ค. 66

'กกร.' ส่งหนังสือจี้ นายกฯ เสนอ 2 แนวทาง 'ลดค่าไฟ' งวด ก.ย.-ธ.ค. 66

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ส่งหนังสือถึงนายกฯ ประยุทธ์ เสนอ 2 แนวทางปรับลดค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 66

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยเสนอแนวทางการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนก.ย.–ธ.ค. 2566 ว่า การจัดประชุม กกร. เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2566 ได้มีการพิจารณา เรื่อง แนวทางการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้า งวดที่ 3 ในรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 

ทั้งนี้ กกร. มีความกังวลต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนและผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่า Ft แล้ว พบว่ามีหลายประเด็นสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาปรับลดค่า Ft ในงวดที่ 3 ได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณที่เพิ่มปริมาณจาก 200 ลูกบาศกูฟุตต่อวัน เป็น 400 ลูกบาศกูฟุตต่อวัน ในเดือน ก.ค. 2566 และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 600 ลูกบาศกูฟุตต่อวัน ภายในเดือน ธ.ค. 2566 ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการนำเข้า LNG ได้

2. ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ลดลงเหลือ 41% จากเดิมที่มีการนำเข้า LNG มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ 47%

3. ราคา LNG Spot ที่นำเข้ามาผลิตไฟฟ้าลดลงประมาณ 30% จากงวดที่ 2 ในเดือนพ.ค. - ส.ค. ที่ราคาประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ประมาณ 14 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

4. ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง

5. ภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริงของ LNG ที่ต่ำกว่าที่เรียกเก็บค่า Ft ทั้ง 2 งวดที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันต้นทุนค่าไฟฟ้าในช่วงนี้ แต่จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ด้านการเงินมองว่าจะเป็นการอ่อนค่าในระยะสั้นและจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นภายในปลายปีนี้  

\'กกร.\' ส่งหนังสือจี้ นายกฯ เสนอ 2 แนวทาง \'ลดค่าไฟ\' งวด ก.ย.-ธ.ค. 66

ทั้งนี้ กกร. ในฐานะผู้แทนภาคเอกชน เห็นว่า การที่อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน รวมทั้งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน กกร. จึงขอนำเสนอข้อเสนอแนวทางการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 3 ในรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 ดังนี้

1. ขอให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้กฟผ. จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่า Ft ลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนส.ค. 2568

2. ขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิง LNG โดยมอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวในการจัดหา (One Team) เพื่อเป็นการสกัด Demand เทียมจากผู้ส่งสินค้า (Shipper) หลายรายที่เข้ามาจัดหาในตลาด สำหรับนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในงวดที่ 3 เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาดและไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยจัดหา LNG ล่วงหน้า ในราคาเฉลี่ยที่ 14 – 16  ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งหากเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ราคา LNG ก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลกที่เพิ่มขึ้น

"กกร. จึงเรียนมายังท่านเพื่อโปรดพิจารณาสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันในการนำข้อเสนอดังกล่าวของ กกร. ไปขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ในการแบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้าในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังคงถูกกดดันจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและกดดันเศรษฐกิจไทย"

รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะวันที่ 7 - 21 ก.ค. 2566 โดยมีการการคำนวณค่า Ft แบ่งเป็น 3 กรณี คือ

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 จำนวน 249.81 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนก.ย. 2564 – เม.ย. 2566 คิดเป็นเงินจำนวน 135,297 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที

กรณีที่ 2 (ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 66) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 จำนวน 91.19 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 – เม.ย. 2566 จำนวน 38,291 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 97,006 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 จำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 - เม.ย. 2566 โดยแบ่งเป็น 5 งวดๆ ละ 23,428 ล้านบาท โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 111,869 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับลดลงเป็น 4.45 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอของ กฟผ.