ตลาดข้าวโลกผันผวนหนัก ผู้ส่งออกจับตาแบนส่งออก

ตลาดข้าวโลกผันผวนหนัก ผู้ส่งออกจับตาแบนส่งออก

ผู้ส่งออกข้าว ชี้ ส่งออกครึ่งปีหลังผันผวน เจออินเดียแบนส่งออกข้าว ดันราคาพุ่งเปิดราคาขายไม่ได้ ห่วงอินเดียขายแบบให้โควต้าบางประเทศ แย่งลูกค้าไทย มั่นใจมีข้าวส่งออกแม้เจอแล้ง พาณิชย์ มั่นใจทั้งปีส่งออกข้าว 8 ล้านตัน “นักวิชาการ” คาดราคาข้าวในประเทศเริ่มขยับปลายปี

Key Points

  • ผลผลิตข้าวโลกในปี 2566/67 เพิ่มขึ้น แต่ความกังวลวิกฤติอาหารในปีนี้อาจทำให้ทั่วโลกส่งออกข้าวลดลง
  • ผู้ส่งออกข้าวไทยมองว่าการที่อินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าวตั้งแต่เดือน ก.ค.2566 ทำให้ตลาดข้าวลกผันผวน
  • ผู้ค้าข้าวติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพราะอินเดียอาจขายข้าวแบบโควต้าให้บางประเทศและมาแย่งลูกค้าไทย
  • นักวิชาการประเมินว่าปี 2567 การผลิตข้าวจะเผชิญความท้าทายจากเอลนีโญที่ทำให้ผลผลิตลดลง

ถึงแม้ว่าจะมีคาดการณ์เอลนีโญในปี 2566-2567 แต่ World Grain Situation and Outlook ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) เดือน พ.ค.2566 ประเมินว่าผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 อยู่ที่ 520.52 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.38% แต่การส่งออกปี 2566/67 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 55.80 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีก่อนหน้า 0.54%

ขณะที่สต๊อกข้าวโลกปี 2566/67 อยู่ที่ 166.68 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 8.56% แสดงให้เห็นว่าประเทศผู้ปลูกข้าวเก็บข้าวไว้มากขึ้น และล่าสุดอินเดียห้ามส่งออกข้าวตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2566 เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีข้าวเพียงพอในการบริโภค และทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานว่าราคาข้าวขาว 5% ราคา FOB วันที่ 26 ก.ค.2566 ตันละ 572 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากวันที่ 12 ก.ค.2566 ที่อยู่ตันละ 534 ดอลลาร์

 

 

นายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวครึ่งหลังปี 2566 สถานการณ์ไม่แน่นอน ซึ่งเกิดจากรัฐบาลอินเดียสั่งยุติส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติเพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในประเทศ และสกัดกั้นการขึ้นราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้นระดับสูงสุดในรอบหลายปี ทำให้ตลาดค้าข้าวโลกหยุดชะงักเพื่อรอดูสถานการณ์ เพราะหลังจากประกาศแล้วราคาข้าวดีดขึ้นทันที

สำหรับราคาข้าวในประเทศพบว่าโรงสียังไม่เปิดราคาขายข้าว ขณะที่ผู้ส่งออกไม่รู้ว่าจะซื้อราคาเท่าไรจึงต้องรอสักระยะเพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น ดังนั้นขณะนี้จึงถือเป็นช่วงสุญญากาศ โดยราคาข้าวก่อนที่อินเดียจะยกเลิกส่งออก โดยราคาข้าวไทยตันละ 500 ดอลลาร์เศษ ขณะที่ราคาข้าวเวียดนามหลังอินเดียยกเลิกการส่งออกทำให้ราคาข้าวขาว 100% พุ่งขึ้นเป็น 600 ดอลลาร์ต่อตัน

ห่วงอินเดียขายแบบให้โควต้า

นอกจากนี้ต้องดูแนวทางปฏิบัติของอินเดียหลังจากนี้ เพราะกรณีประเทศที่ร้องขอซื้อข้าวจากอินเดียเพื่อความมั่นคงทางอาหารจะเจรจารัฐบาลอินเดียขอซื้อในรูปแบบโควต้า โดยรัฐบาลอินเดียจะพิจารณาเป็นรายๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียร้องขอซื้อข้าว 1 ล้านตัน รวมถึงฟิลิปินส์เคยร้องขอซื้อเช่นกัน ซึ่งถ้าอินเดียขายตามคำร้องขอจะส่งผลให้ไทยขายข้าวให้ประเทศที่ร้องขอไม่ได้ จึงเป็นการแย่งตลาดข้าวไทย ซึ่งทำให้ต้องประเมินอีกระยะว่าจะส่งผลต่อผู้ส่งออกไทยแค่ไหน

ส่วนปัญหาเอลนิโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงต้องติดตามผลกระทบต่อผลผลิตข้าวไทย ซึ่งช่วงนี้ยังมีฝนตกดีจึงรอดูเดือน ก.ย.เป็นต้นไปที่ยังคาดไม่ได้ ทำให้รอดูข้าวนาปีที่จะเก็บเกี่ยวเดือน ธ.ค.2566 และหากฝนทิ้งช่วงจะมีความเสียหายต่อข้าวได้

ถามว่าจะถึงขั้นขาดแคลนหรือไม่ ก็คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ปกติไทยปลูกข้าวได้ 20 ล้านตันข้าวสาร บริโภคภายในประเทศ 10-12 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก 7-8 ล้านตัน แต่หากเอลนีโญ่กระทบแรงทำให้ปริมาณข้าวลดลง 1-2 ล้านตันก็ยังส่งออกได้ โดยราคาจะแพงขึ้นแต่คงไม่ถึงขั้นแบนส่งออก”

ส่วนค่าเงินบาทเป็นปัจจัยสำคัญเพราะผันผวนจึงกำหนดราคาขายข้าวลำบาก เนื่องจากมาร์จิ้นน้อยมากไม่เหมือนสินค้าอุตสาหกรรมที่มาร์จิ้นมากกว่า ดังนั้นผู้ส่งออกข้าวต้องการเสถียรภาพค่าเงินบาท เพราะเงินบาทแข็งค่าทุก 1 บาท มีผลต่อราคาข้าว 15 ดอลลาร์ต่อตัน

สำหรับการส่งออกข้าวครึ่งปีหลัง 2566 จะถึง 4 ล้านตัน โดยครึ่งปีแรกส่งออกได้ 4.2 ล้านตัน รวมแล้วทั้งปีได้ถึง 8 ล้านตัน ตามเป้าหมาย แต่ต้องดูสถานการณ์ระหว่างนี้ 

ขณะที่เวียดนามในครึ่งปีแรกส่งออกข้าวไปมาก ดังนั้นในครึ่งปีหลังอาจส่งออกน้อยลงไม่ถึง 3 ล้านตัน แต่ล่าสุดสมาคมผู้ส่งออกข้าวเวียดนามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมว่าจะส่งออกข้าวเหมือนเดิมหรือไม่ จะมีข้าวพอบริโภคภายในประเทศหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายจะส่งออกเหมือนเดิมแต่ปริมาณยังไม่แน่นอน และถ้าเวียดนามแบนการส่งออกจะดันราคาข้าวขึ้นตันละ 1,000 ดอลลาร์ แม้จะส่งผลดีต่อข้าวไทย แต่ราคาสูงจะทำให้ขายข้าวได้ลำบาก

“การส่งออกครึ่งปีหลังไม่แน่นอนไม่ราบรื่น โดยเฉพาะนโยบายอินเดียที่อาจขายให้ประเทศที่ร้องขอในราคาที่ไม่แพงจะแย่งตลาดไทย วันนี้ต้องดูสถานการณ์ไป และใน 1-2 เดือนข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นคงต้องประเมินอีกครั้ง”

“พาณิชย์”มั่นใจข้าวไม่ขาดแคลน

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ติดตามกรณีอินเดียระงับส่งออกข้าว ซึ่งใน 1-2 สัปดาห์ จะเห็นภาพชัดเจนของตลาดข้าวโลก จากนั้นจะทำแผนที่มีสมมติฐานตั้งแต่เบาไปหาหนัก แล้วแต่ว่าสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกว่ารุนแรงแค่ไหน 

ทั้งนี้ หากราคาข้าวอยู่ระดับปกติก็ปล่อยไปตามกลไกตลาด แต่ถ้าเริ่มเห็นสัญญาณความต้องการข้าวสูงขึ้นจะพิจารณาใช้มาตรการที่มี ซึ่งอาจไม่ต้องใช้เลยเพราะไทยมีผลผลิตเหลือส่งออก

“ในประเทศไม่มีปัญหาขาดแคลนแน่นอน เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวและเหลือส่งออก แต่จะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวมากกว่า  และการส่งออกปีนี้จะเกิน 8 ล้านตัน จากที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ และราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้นจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์กังวลผลกระทบเอลนีโญมากกว่า โดยจะเกิดต่อเนื่อง 1-3 ปี จะทำให้ผลผลิตข้าวลดลง และมีการหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมกันทำแผนรับมือปัญหาผลผลิตลดลง

ราคาข้าวในประเทศขึ้นปลายปี

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ภาวะเอลนีโญที่รุนแรงแรงต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้บางประเทศห้ามการส่งออกข้าว โดยอินเดียมีข้าวเป็นความมั่นคงทางอาหารจึงห้ามส่งออกข้าวขาว 5% และข้าวชนิดอื่นยกเว้นข้าวบาสมาติ ซึ่งอินเดียเป็นผู้ส่งข้าวอันดับ 1 ของโลก ทำให้ราคาข้าวขาว 5% ในตลาดโลกปรับขึ้นถึงตันละ 50 ดอลลาร์ และมีแนวโน้มสูงขึ้นเพราะปริมาณข้าวในตลาดโลกลดลง

ส่วนราคาข้าวที่สูงขึ้นจะส่งผลดีต่อรายได้ชาวนาไทย โดยในปี 2566 ที่ยังไม่ได้ผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังได้ตามเป้าหมาย 30 ล้านตันข้าวเปลือก และส่งออกข้าวได้ 8 ล้านตัน

ขณะที่ปี 2567 การผลิตข้าวจะเผชิญความท้าทายจากเอลนีโญ เพราะน้ำในเขื่อนลดลงจะทำให้ผลผลิตเสียหาย โดยข้าวนาปีอาศัยน้ำธรรมชาติจะเสี่ยงเจอภาวะฝนแล้ง ส่วนข้าวในพื้นที่ชลประทานจะขาดแคลนน้ำ ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวปี 2567 ต่ำกว่าปี 2566 รวมทั้งดีมานด์ข้าวในประเทศลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยไม่ได้ตามเป้า จึงทำให้ความต้องการข้าวในประเทศไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร

ทั้งนี้ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่น้อยลงช่วงมีภัยแล้งจะกระทบกับราคาข้าวในประเทศ โดยราคาข้าวขาวอาจปรับขึ้นช่วงสั้นเมื่อดีมานต์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเริ่มเห็นราคาข้าวขาวสูงขึ้นใน 2567 ขณะที่ข้าวเหนียวจะเริ่มราคาสูงตั้งแต่ปลายปีนี้