‘ม.หอการค้าฯ’ ชี้ตั้งรัฐบาลช้าเกินไป ปี 67 เศรษฐกิจไทยเจอภาวะ ‘ปีที่สูญหาย’

‘ม.หอการค้าฯ’ ชี้ตั้งรัฐบาลช้าเกินไป  ปี 67 เศรษฐกิจไทยเจอภาวะ ‘ปีที่สูญหาย’

ม.หอการค้าฯ ห่วงตั้งรัฐบาลช้าปีหน้าเศรษฐกิจกระทบหนัก จะเป็นปีที่ “สูญหาย” ของเศรษฐกิจไทยคาดก.ย.ได้รัฐบาล หนุนจีดีพีไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.1 – 3.5% แม้ส่งออกยังติดลบแต่ท่องเที่ยวฟื้นชัด ส่วนปีหน้าถ้างบประมาณ67 เบิกจ่ายทันไตรมาส 1 จีดีพีไทยขยายตัวได้ 3.5 – 4%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่าการจัดตั้งรัฐบาลช้าหรือเร็วภายหลังการเลือกตั้งถือว่ามีผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะเศรษฐกิจในปี 2567 โดยในขณะนี้มองว่าการจัดตั้งรัฐบาลในเดือน ส.ค.จะมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของการโหวตนายกรัฐมนตรี ส่วนการจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.ซึ่งแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นในขณะนี้คือการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่พรรคเพื่อไทยมีบทบาทสำคัญในการฟอร์มทีมรัฐบาลซึ่งการที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำก็จะทำให้จัดทำงบประมาณได้เร็วกว่าก้าวไกลที่ใช้นโยบายการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์

ในส่วนของคำถามสำหรับข้อเสนอที่ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลช้าออกไปถึง 10 เดือน มองว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในปี 2567 หลายด้านจนอาจจะกลายเป็น "ปีที่สูญหาย" (lost year) ของเศรษฐกิจไทย โดยผลกระทบในส่วนแรกจากการตั้งรัฐบาลล่าช้าคือในส่วนของความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เนื่องจากในทางวิชาการผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการวิเคราะห์เศรษฐกิจคือนโยบายของรัฐบาลใหม่จะไม่สามารถนำมาคาดการณ์ได้ว่าเป็นนโยบายอะไร ซึ่งนักลงทุนเองก็จะมองไม่เห็นนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะนำมาใช้เช่นกัน ทุกอย่างก็จะชะงักเศรษฐกิจในประเทศก็จะค่อยๆซึมตัวลงไปเรื่อยๆ

ส่วนต่อมาคือเรื่องของการจัดทำงบประมาณปี 2567 รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งในส่วนนี้การใช้งบประมาณไปพลางก่อน เท่ากับว่าเป็นการใช้โครงสร้างงบประมาณปี 66 ซึ่งงบลงทุนจะถูกชะลอออกไป ซึ่งหากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็วสิ่งที่จะเกิดขึ้นคืองบประมาณในส่วนที่เป็นงบฯลงทุนอาจจะถูกใช้ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณซึ่งการเบิกจ่ายที่ล่าช้าออกไปจะกระทบกับเศรษฐกิจในปี 2567 อย่างมากเช่นกัน

นอกจากนี้ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าอีกเรื่องคือปัญหาภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีญโญ ซึ่งหากไม่มีการเตรียมตั้งรับและแก้ปัญหาในเชิงรุกก็จะส่งผลกระทบกับรายได้ภาคเกษตร รวมทั้งหนี้สินของเกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่นเดียวกับภาคการส่งออกในปีหน้าที่อาจจะฟื้นตัวได้น้อยเนื่องจากขาดมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตามม.หอการค้าฯคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.1 – 3.5% โดยในปีนี้แรงส่งหลักจะมาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย 25 ล้านคนเป็นอย่างน้อยและถ้าหากไม่มีประท้วงรุนแรงในช่วงที่เหลือของปีนักท่องเที่ยวอาจจะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้ 28 ล้านคน

ส่วนปีหน้าม.หอการค้าประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องโดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5 – 4% ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าถ้าได้รัฐบาลในเดือน ส.ค.นี้

และการจัดทำพ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณ 2567 สามารถทำเสร็จได้ตามกำหนด และเริ่มเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปี 2567 ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจมีแรงขับเคลื่อน เมื่อรวมกับภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวในปี 2567 ก็จะเป็นภาพที่สดใสของเศรษฐกิจไทย