แนวคิดเทคโนโลยี-นวัตกรรมดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนธุรกิจไทย

แนวคิดเทคโนโลยี-นวัตกรรมดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนธุรกิจไทย

เวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดเทคโนโลยี - นวัตกรรมดิจิทัล ร่วมดันสู่การเปลี่ยนผ่านด้านความยั่งยืนของนักธุรกิจในประเทศไทย

เมื่อช่วงต้นเดือนผมมีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลบนเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ Thailand Transformation towards Sustainability ร่วมกับ คุณชาลี ขันศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และ คุณสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาลและแผนพลังงาน ในงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม Innovation Summit Bangkok 2023: DIGITAL Innovations for a Sustainable Thailand ที่จัดโดย ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย และ กรุงเทพธุรกิจ

บางช่วงบางตอนผมให้ความเห็นว่า ความยั่งยืน (Sustainability) จะเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายใหม่ของภาคธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับคำ 2 คำ นั่นคือ การเดินหน้าอย่างระมัดระวัง และการเดินหน้าอย่างเข้มแข็ง พร้อมกันนี้ หากมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เกิดความยั่งยืนก็จะเกิดเป็น Sustainability Competitive Advantage ซึ่งเป็นจุดที่ทุกคนต้องคำนึงถึงเสมอว่าทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

และสิ่งที่เราทุกคนควรตระหนักถึงเสมอคือ ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับยุคสมัยของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อันนำมาสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) รวมถึง Blockchain ซึ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุน Big Data และ AI นอกจากนี้ เรายังเผชิญกับยุคระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่เครื่องจักรกลกำลังเปลี่ยนไปสู่หุ่นยนต์ที่ทำงานเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี IoT หรือ Digital Twins 

รวมถึงการเผชิญหน้ากับยุคของการเข้าถึง (Digital Access) ที่จะต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่อยู่บนคลาวด์ และคำนึงถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ไม่เพียงแค่ข้อมูลส่วนบุคคล แต่รวมไปถึงข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัท สุดท้ายคือ ยุคของการเชื่อมต่อ (Digital Connect) ที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะพาธุรกิจของคุณไปสู่โลกใบใหม่ ห่วงโซ่อุปทานใหม่ หรือแพลตฟอร์มใหม่ที่จะต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

ส่วนการจะก้าวไปสู่การเป็นบริษัทที่ยั่งยืนได้นั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญประการแรกคือ เรื่องของ ‘คน’ เพราะหากคนขาดความรู้ในเรื่องของความยั่งยืน อีกทั้งไม่เข้าใจว่า เทคโนโลยีจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะไปถึงเป้าหมายได้ โดยบริษัทที่ยั่งยืนจะต้องรู้กระบวนการทางธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการทำ ‘การตลาด’ ก็จะต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

นอกเหนือไปจาก คน และ การตลาด แล้ว ‘แนวทางการดำเนินธุรกิจและกระบวนการผลิต’ นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับภาคธุรกิจ และทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายของความยั่งยืนได้ ขณะที่ภาคการเงิน และเทคโนโลยีดิจิทัล ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน และนั่นคือ ภารกิจของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ของเราที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจของไทย ซึ่งเรามีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ 

 

ไม่ว่าจะเป็น Smart VISA, Long Term Residence, Capital Gain Tax รวมถึงบัญชีบริการดิจิทัลที่จะอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้เกิด Digital Solution ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ พร้อมกันนี้ยังมีระบบนิเวศที่เตรียมพร้อมรองรับการมาถึงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

สุดท้ายแล้วอยากบอกอย่างนี้ครับว่า การเปิดโอกาสด้านการลงทุนให้กับผู้พัฒนาหรือผู้ให้บริการเทคโนโลยีระดับโลกนั้น เราต้องการให้ทุกบริษัทร่วมถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแค่ขายเทคโนโลยีให้เราเท่านั้น ซึ่งจุดนี้จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนในที่สุด