BDI ชูแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ Travel Link เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวไทย

BDI ชูแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ Travel Link เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวไทย

BDI รายงานความคืบหน้าแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ Travel Link ชูการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวไทย

ตามที่ผมเคยเล่าให้ฟังแล้วว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ดังนั้น สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (BDI) หรือ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) เดิม จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ จัดทำยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้บริการวิเคราะห์ ให้คำปรึกษา และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมยกระดับทักษะบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งหนึ่งในโครงการที่มีการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ประโยชน์คือ Travel Link

โดยเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการ BDI พร้อมคณะทำงานโครงการTravel Link ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ร่วมให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ Travel Link: เชื่อม (ข้อมูล) ท่องเที่ยวให้ถึงกัน ให้กับคุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับทราบ

รศ.ดร.ธีรณี กล่าวว่า แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะTravel Link เป็นหนึ่งในโครงการที่ GBDi เริ่มต้นพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ปัจจุบันมีการบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่า 20 หน่วยงาน อาทิ ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม อัตราการเข้าพัก ฯลฯ เกิดชุดข้อมูลอ้างอิง (Data Catalog) มากกว่า 100 ชุด มีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวไทยมากกว่า 14,000 แหล่ง เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางในการให้บริการ

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจเพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ (ผู้ประกอบการ/นักท่องเที่ยว) ว่ามีข้อมูลใดบ้างที่ให้ความสนใจ เช่น จำนวนและพฤติกรรม โดยวิธีการศึกษาจะเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ มีการสัมภาษณ์เชิงลึก มุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรมในบริบทและมุมมองที่หลากหลาย โดยผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประชาชนที่สนใจสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลได้ผ่านhttps://www.travellink.go.th/

รศ.ดร.ธีรณี กล่าวต่อว่าTravel Link ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของ BDI ในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่เกิดจากการทำงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เข้าใจเทคโนโลยีอุบัติใหม่ รวมถึง Business Domain ต่าง ๆ ของรัฐ อีกทั้งมีประสบการณ์ด้านข้อมูลเพื่อการวางแผนของภาครัฐพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มสำคัญด้านการท่องเที่ยวของไทย ซึ่ง BDI พร้อมเป็นกลไกสำคัญที่จะ

ขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เข้มแข็ง และนอกเหนือจากTravel Link แล้วBDI ยังได้บูรณาการการทำงานไปแล้วกว่า 100 โครงการกับ 67 หน่วยงาน รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและเยาวชน (Youth Link) และระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (CO-Link)

ในอนาคต หากประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่อย่างแพร่หลายมากขึ้น เทคโนโลยีอื่นก็จะได้รับการพัฒนาควบคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และบล็อคเชน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป