'เอกชน' รุมค้านชะลอโหวตนายกฯ รักษาการ 10 เดือน 

'เอกชน' รุมค้านชะลอโหวตนายกฯ รักษาการ 10 เดือน 

“เอกชน” รุมค้านชะลอโหวตนายกฯ ข้อเสนอรัฐบาลรักษาการ 10 เดือน เสี่ยงทำประเทศเสียหายหนัก ฉุดกระทบเศรษฐกิจ กระทบภาคธุรกิจ

การจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อมากกว่า 70 วัน นับตั้งแต่การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนที่ 1 และเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แต่การเลือกนายกฯ ที่ผ่านไปถึง 2 รอบ ต้องหยุดชะงักลง

รวมทั้งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เลื่อนนัดประชุมโหวตครั้งที่ 3 ในวันที่ 27 ก.ค.2566 ออกไป เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งหลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดมีข้อเสนอจากนายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ขอให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เลื่อนออกไป 10 เดือน เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หมดวาระลง และร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามที่มีพรรคการเมืองเสนอให้การเลือกนายกฯ ชะลอออกไปก่อน 10 เดือนนั้น จะต้องกลับมาทบทวนว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ภาคการเมืองต้องชั่งน้ำหนักว่าเศรษฐกิจไทยจะรับไหวหรือไม่ เพราะทุกอย่างมีต้นทุน

“กรอบไทม์ไลน์ที่ภาคเอกชนเคยประเมินไว้คือเดือน ส.ค.ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลได้และเข้ามาทำหน้าที่เดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นจุดที่เราคำนวณความเสี่ยงและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นว่าอยู่ในจุดที่ยังพอรับได้ แต่หากล่าช้าไปมากกว่านั้น ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก็จะยิ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้นและยังประเมินไม่ได้ว่าจะสร้างความเสียหายแค่ไหน”

 

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าทิศทางของประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอะไร โดยเอกชนจับตาดูผลการตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และหวังให้ทุกอย่างเรียบร้อยเพื่อจะได้จับมือและเดินหน้ากันต่อ

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่น่าจะนานขนาดนั้น และยังคิดว่าจะยังคงเป็นไทม์ไลน์เดิมในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้าการตั้งรัฐบาลล่าช้าถึง 10 เดือน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป และจะมีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจในภาพรวมด้วยเช่นกัน แต่ตอนนี้ยังคิดว่าเป็นไปตามเวลาเดิมหรืออาจจะล่าช้านิดหน่อยแต่ยังคิดว่าไม่น่านานขนาดนั้น

“ส่วนตัวก็ไม่อยากคาดเดาในการจัดตั้งรัฐบาลเท่าไหร่ เพราะมีอะไรใหม่ๆ มาทุกวัน และหากใครเป็นรัฐบาลหรือจะเป็นรัฐบาลรักษาการสิ่งที่ยังอยากให้ดูแลก็คงหนีไม่พ้นเรื่องราคาน้ำมันที่จะต้อง Balance กันทั้งผู้ค้าน้ำมันและประชาชนที่อยากใช้น้ำมันที่ราคาถูก”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ตามข้อเสนอให้มีรัฐบาลรักษาการ 10 เดือน โดยปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน และยืนยันว่าจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้รวดเร็วที่สุด เพื่อจะไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศ และเข้ามาบริหารจัดการเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวขณะนี้ ซึ่งหวังว่าทุกฝ่ายจะหาทางออกให้ประเทศเดินหน้าต่อได้

“อยากให้ตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด เพราะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปัจจุบันล่าช้าและจะยิ่งล่าช้าออกไป จะเกิดการชะงักของเศรษฐกิจในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะขาดแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนใหม่ๆ ของภาครัฐ”

ทั้งนี้ การลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนใหม่รอความชัดเจนของสถานการณ์การเมือง ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเลือกลงทุนประเทศอื่นคาดว่าประเทศจะขาดการลงทุนใหม่หลายแสนล้านบาทในช่วง 10 เดือนถึง 1 ปี และประเมินว่าอาจทำให้จีดีพีหายไป 1-2%