กกพ.เคาะ 3 แนวทาง ค่าไฟต่ำสุด 4.45 บาท/หน่วย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เคาะ 3 แนวทางคิดค่าไฟฟ้างวดใหม่ สูงสุด 6.28 บาทต่อหน่วย ต่ำสุด 4.45 บาทต่อหน่วย พร้อมเปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 7 - 21 ก.ค. ก่อนใช้จริงงวดกันยายน-ธันวาคมนี้

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. คมกฤช ตันตระวาณิชย์ ระบุ จากปัจจัยทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกเริ่มคลายตัวรวมทั้งแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกที่แกว่งตัวในระดับต่ำ ทำให้การนำเข้า LNG เพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติทางท่อที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายที่ลดลง แต่ยังคงมีภาระที่ กฟผ. ต้องแบกรับจากภาระต้นทุนราคา LNG ในช่วงวิกฤตพลังงานมากกว่าแสนล้านบาทแทนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องทยอยจ่ายคืน

ที่ประชุม กกพ. เห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ 3 กรณี ซึ่งทางเลือกค่าเอฟทีที่ต่ำสุดที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วยหรือค่าไฟฟ้า 4.45 บาทต่อหน่วยตามที่ กฟผ. เสนอ โดย กกพ. เปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 7 - 21 ก.ค. 2566 ก่อนประกาศใช้จริงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนขอให้ลดค่าไฟลงเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไปในภาพรวมถึงความเป็นไปได้

สำหรับ 3 ทางเลือกในการรับฟังความคิดเห็นประกอบด้วย กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด 135,297 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที

กรณีที่ 2 ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 66 โดยทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 – เม.ย. 2566 จำนวน 38,291 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่าสิ้นเดือน ธ.ค. 2666 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 97,006 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าคงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย

และกรณีที่ 3 ทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 - เม.ย. 2566 โดยแบ่งเป็น 5 งวดๆ ละ 23,428 ล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือน ธ.ค. 2666 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 111,869 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า ปรับลดลงเป็น 4.45 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอของ กฟผ.