เทียบ 'ราคาน้ำมัน' ใน 'อาเซียน' เบนซิน – ดีเซล ประเทศไหนแพงกว่ากัน?

เทียบ 'ราคาน้ำมัน' ใน 'อาเซียน'  เบนซิน – ดีเซล ประเทศไหนแพงกว่ากัน?

เปิดข้อมูลราคาน้ำมันเฉลี่ยเบนซิน - ดีเซล ในอาเซียนประเทศไทยแพงกว่ากัน พบสิงคโปร์ราคาขายปลีกน้ำมันแพงสุด ส่วนที่ต่ำสุดคือบรูไน ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 5 สศช.มองระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกปีนี้อยู่ระดับ 80 - 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ประเด็นเรื่อง "ราคาน้ำมัน" เป็นประเด็นที่เป็นเรื่องใกล้ตัวอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป และมักจะมีข้อถกเถียงเสมอว่าราคาน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศไทยแพงไปหรือไม่ แล้วราคาน้ำมันประเทศต่างๆมีราคาเท่าไหร่ ทำไมบางประเทศจึงสามารถกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันได้ต่ำกว่าประเทศไทย

ทั้งนี้แม้จะมีการกำหนดราคาน้ำมันตลาดโลก จากการอ้างอิงแหล่งที่มีการผลิต และการกลั่นน้ำมันเพื่อส่งออกจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) หรือเบรนท์ทะเลเหนือ (Brent) หรือราคาน้ำมันดิบที่สิงคโปร์ซึ่งมีการประกาศราคาน้ำมันซื้อขายล่วงหน้าทุกวัน แต่ในความเป็นจริงราคาขายปลีกน้ำมันในแต่ละประเทศแตกต่างกันเนื่องจากมีปัจจัยต่างๆมาเกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ

โดยราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง มาตรการด้านภาษี และนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันของประเทศนั้น

โดยราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นของประเทศไทย จะอ้างอิงราคาจาก ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย (ตลาดจรสิงคโปร์ - Mean of Platts: MOP Singapore)

 

เปรียบเทียบราคาน้ำมัน เบนซิน-ดีเซล ในอาเซียน

ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รวบรวม ราคาน้ำมันประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอาเซียนเพื่อเปรียบให้เห็นว่าราคาน้ำมันในไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคมีความแตกต่างกันอย่างไร โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

- ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินอาเซียน โดยเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค. - พ.ค.66) เรียงลำดับจากแพงสุดไปถูกที่สุด ได้แก่ 

  1. สิงคโปร์  71.03 บาท/ลิตร
  2. สปป.ลาว 52.21 บาท/ลิตร  
  3. กัมพูชา   39.31 บาท/ลิตร   
  4. ฟิลิปปินส์ 37.12 บาท/ลิตร   
  5. ไทย 35.45 บาท/ลิตร  
  6. เมียนมา 34.32 บาท/ลิตร   
  7. อินโดนิเซีย 32.68 บาท/ลิตร   
  8. เวียดนาม 31.83 บาท/ลิตร
  9. มาเลเซีย  15.48 บาท/ลิตร   
  10. บรูไน 13.63 บาท/ลิตร   

- ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอาเซียน โดยเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค. - พ.ค.66) ) เรียงลำดับจากแพงสุดไปถูกที่สุด ได้แก่

  1. สิงคโปร์ 60.99  บาท/ลิตร
  2. สปป.ลาว 37.49 บาท/ลิตร 
  3. อินโดนิเซีย 34.07 บาท/ลิตร
  4. ฟิลิปปินส์ 33.24 บาท/ลิตร
  5. กัมพูชา  32.12 บาท/ลิตร
  6. ไทย  31.94 บาท/ลิตร    
  7. เมียนมา 31.93 บาท/ลิตร 
  8. เวียดนาม  26.58 บาท/ลิตร
  9. มาเลเซีย  16.24 บาท/ลิตร  
  10. บรูไน 7.97 บาท/ลิตร

 

เทียบ \'ราคาน้ำมัน\' ใน \'อาเซียน\'  เบนซิน – ดีเซล ประเทศไหนแพงกว่ากัน?

ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) ในปี 2566 จะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับเฉลี่ย 80 – 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงจากในปี 2565 ที่ระดับราคาน้ำมันเฉลี่ย 96.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2564 ที่อยู่ในระดับประมาณ 69.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปี 2563 ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 42.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โดย ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยในช่วง 1 มกราคม - 11 พฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 80.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้ม ที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) ประกอบกับจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันทั่วโลก และปริมาณ น้ำมันดิบคงคลังที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลให้ อุปสงค์การใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนและความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจจะส่งผล ต่อระดับราคาพลังงาน และปัญหาความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาคยุโรปที่ต้องดำเนินการสำรองพลังงานไว้ใช้ในช่วงฤดูหนาวที่จะส่งผลให้ระดับราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น

โดยผลการประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและประเทศพันธมิตร (OPEC+) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 มีมติที่จะยืนยันการลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนกระทั่งสิ้นสุดปี 2566 ตามข้อตกลงของที่ประชุมเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ขณะที่ยังมีประเทศสมาชิกที่สมัครใจที่จะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกรวม 1.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้กลุ่ม OPEC+ จะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงรวมทั้งสิ้น 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน

จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันทั่วโลก (operative oil rigs) เฉลี่ยสามเดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 1,448 แท่น เทียบกับ 1,785 แท่นในปี 2562 ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบ คงคลังของสหรัฐฯ เฉลี่ยสามเดือนแรกในปี 2566 อยู่ที่ 838.3 ล้านบาร์เรล เทียบกับ 1,102.3 ล้านบาร์เรลในปี 2562