JPMorgan มองบวก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะลงทุน อินโดนีเซีย - เวียดนาม เพิ่ม

JPMorgan มองบวก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะลงทุน อินโดนีเซีย - เวียดนาม เพิ่ม

นักวิเคราะห์จาก “เจพีมอร์แกน”มองบวก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุน “อินโดนีเซีย - เวียดนาม” และให้ลดการลงทุนใน “มาเลเซีย - ฟิลิปปินส์” โดยไร้มุมมองต่อไทย

Key Points

  • นักวิเคราะห์จาก “เจพีมอร์แกน”มองบวก ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุน อินโดนีเซีย-เวียดนาม
  • ในขณะที่มีมุมมองแบบกลาง (Neutral) ต่อสิงคโปร์ และแนะนำให้ลดการลงทุนในมาเลเซีย-ฟิลิปปินส์
  • ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน

 นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน (J.P.Morgan) สนใจตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน (Supply-Chain Shift) ของบรรดาบริษัทต่างชาติ ซึ่งทยอยย้ายฐานการผลิตออกจากจีน พร้อมเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนามจากการลงทุนจากต่างประเทศที่ปรับตัวแข็งแกร่ง ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางในภูมิภาคจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566

ด้าน ราจีฟ บาตรา (Rajiv Batra) นักกลยุทธ์ ตราสารทุนสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตลาดเกิดใหม่ของเจพีมอร์แกน กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวกระทบภาคการส่งออกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่เจพีมอร์แกนก็ยังให้ความสนใจภูมิภาคดังกล่าวเหมือนเดิม ท่ามกลางการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยนักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน ยังแนะนำให้ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนสำหรับ “อินโดนีเซีย” และ “เวียดนาม”  เพราะสามารถดึงดูดกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานได้มากที่สุด ขณะที่แนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุนแก่สิงคโปร์ และให้ลดน้ำหนักการลงทุนสำหรับมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ 

โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นเอ็มเอสซีไอ อาเซียน (MSCI ASEAN) ปรับตัวลดลงประมาณ 3.5% ซึ่งเคลื่อนไหวตามหลังดัชนีเอ็มเอสซีไอ โกลบอล อีเอ็ม (MSCI Global EM) ซึ่งให้ผลตอบแทนประมาณ 5% ในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ เจพีมอร์แกน ยังประเมินว่า บรรดาธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยัง “คงอัตราดอกเบี้ย” ไว้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากเท่ากับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลก จากอัตราเงินเฟ้อที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ไม่สูงเท่าอีกหลายประเทศ 

ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่า บรรดาธนาคารกลางดังกล่าวจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ธนาคารกลางบางแห่งหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวไปก่อนหน้านี้ก็ตาม

อ้างอิง

Bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์