สรท.คาดส่งออกเดือนก.พ.กลับมาขยายตัวแตะ 2 หมื่นล้านดอลลาร์

สรท.คาดส่งออกเดือนก.พ.กลับมาขยายตัวแตะ 2 หมื่นล้านดอลลาร์

สรท.เผย ส่งออกไทยเดือนม.ค.มูลค่า 20,249.5 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.5% ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก มั่นใจทั้งปียังโตได้ 1-2 % ขอรัฐหนุนใช้เงินสกุลท้องถิ่นทำธุรกรรมการค้า พร้อมดูแลค่าไฟ เร่งทำเอฟทีเอขยายโอกาสทางการค้า

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนม.ค. 2556 มีมูลค่า 20,249.5 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.5% สอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลจากเทศกาลตรุษจีนปีนี้มาเร็ว ทำให้การส่งออกไปจีนมีเวลาจำกัดจึงติดลบ  11% และการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากมีปริมาณสินค้าคงคลังที่กักตุนไว้ก่อนหน้านี้เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์ส่งออกในเดือน ม.ค.66 น่าจะถือว่าอยู่ในจุดต่ำที่สุดแล้ว

ส่วนการส่งออกในเดือนก.พ.คาดว่า การส่งออกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวแตะ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังแนวโน้มดัชนีการผลิตของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มกลับมาขยายตัว ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าอยู่ในช่วง 34-35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกมีความพึงพอใจ

 “การส่งออกจะค่อย ๆ ดีขึ้น จากคาดการณ์ไตรมาส 1 ส่งออกหดตัว 8% ไตรมาส 2 ส่งออกหดตัว 0.7% ไตรมาส 3 ส่งออกขยายตัว 1.9% ไตรมาส 4 ส่งออกขยายตัว 9.8%  ซึ่งทิศทางการส่งออกในปีนี้แตกต่างจากปี 65 โดยปี 65ขยายตัวครึ่งปีแรกแล้วหดตัวครึ่งปีหลัง แต่ปีนี้ติดลบครึ่งปีแรกแต่จะขยายตัวครึ่งปีหลัง โดยเชื่อว่าทั้งปีจะได้ 1-2% มูลค่า 291,000-292,000 ล้านดอลลาร์ “นายชัยชาญ กล่าว

อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก  ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยและการชะลอตัวของภาคการผลิต แต่ยังคาดหวังภาคบริการและการท่องเที่ยวช่วยผลักดันการฟื้นตัวและ ต้นทุนราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และภาวะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local currency) ที่มีอยู่ รวมถึงเร่งขยายกรอบความร่วมมือไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดความผันผวนจากการใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรม และพิจารณาทบทวนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 2. ขอให้ควบคุมหรือกำกับดูปรับขึ้นค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (FT) ในงวดเดือนพพ.ค. – ส.ค. 2566 อยู่ระดับที่เหมาะสม เนื่องจากค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนหลักของภาคการผลิต และกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และ 3. เร่งผลักดันกระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย–สหภาพยุโรป, ไทย-EFTA และ FTA ใหม่ในตลาดคู่ค้าสำคัญ เช่น UAE และ GCC เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น