นักธุรกิจ Wait & See ห่วงจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อฉุดความเชื่อมั่นต่างประเทศ

นักธุรกิจ Wait & See ห่วงจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อฉุดความเชื่อมั่นต่างประเทศ

"หอการค้า“ เดาทิศการเมืองลำบาก ไม่รู้ใครจะเป็นนายกฯ จับตาก้าวไกลตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่ หวังตั้งได้เร็วหนุนฟันด์โฟลว์ ”หอการค้าต่างชาติ" ขอให้ตั้งรัฐบาลได้ตามกระบวนการกฎหมาย ถ้าตั้งได้เร็วหนุนความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ

ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 "พรรคก้าวไกล" ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลรวม 8 พรรค

ที่ผ่านมาได้มีคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่ร่วมกันหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารประเทศ แต่ได้มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการเสนอชื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมทั้งมีประเด็นที่อาจนำไปสู่การยืดเยื้อในการตั้งรัฐบาล

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะประเทศไหนเป็นเรื่องที่นักธุรกิจรอดูสัญญาณว่าหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร และมีแนวนโยบายไปในทิศทางใด แต่ต้องเข้าใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลของไทยไม่เหมือนประเทศอื่น เพราะต่างประเทศมีพรรคการเมืองไม่มาก 

ในขณะที่บางประเทศมีพรรคการเมืองหลักเพียง 2 พรรค รวมทั้งในต่างประเทศมีจำนวนพรรคกาเมืองไม่มาก ซึ่งทำให้นักธุรกิจมองนโยบายได้ง่ายและชัดเจน รวมทั้งวิเคราะห์แผนการลงทุนให้สอดคล้องนโยบายได้ และตัดสินใจการลงทุนได้ง่ายและรวดเร็ว

"ไทยมีพรรคการเมืองหลายพรรค ยิ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมา คะแนนพรรคลำดับ 1 และลำดับที่ 2 ไม่ห่างกันมากนักประกอบกับมีการแบ่งข้างจับกลุ่มพรรคการเมือง และความเป็นไปได้ในการจับข้ามขั้ว หรือความไม่แน่นอนระหว่างนี้ จึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก"นายสนั่น กล่าว

  • จับตาก้าวไกลตั้งรัฐบาลสำเร็จไหม 

นายสนั่น กล่าวว่า ขณะนี้ต้อง Wait & See ประเด็นพรรคก้าวไกลจะประคับประคองการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรคการได้หรือไม่ เพราะยังมีประเด็นความไม่แน่นอนทั้งเรื่องหุ้น ITV ซึ่งอยู่ในกระบวนการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งเมื่อเข้าสู่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรก็ยังลุ้นว่าจะโหวตนายกฯอย่างไร โดยเฉพาะการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา

"มีความไม่ชัดเจนว่าใครจะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องที่แปลกที่นักลงทุนยังชะลอหรือรอดูสถานการณ์ต่อไปจนกว่าจะเกิดความชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะจีน แต่รวมถึงทุกชาติที่มาลงทุนในไทย ทั้ง ญี่ปุ่น สหรัฐ หรือประเทศอื่น"

ทั้งนี้ หากตั้งรัฐบาลได้ช่วงเดือน ส.ค.2566 จะเป็นเรื่องดีมากและความกังวลนี้จะผ่อนคลายลงไป โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณที่จะเกิดขึ้นได้เร็วเพื่อนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็ว แต่ถ้าตั้งรัฐบาลล่าช้าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในประเทศ รวมถึงภาพรวมการจับจ่ายใช้สอยน่าจะชะลอตัวตามทิศทางความไม่แน่นอนและความกังวลต่อสถานการณ์การเมือง

รวมทั้งหากจัดตั้งได้เร็วจะมีผลดีต่อ Fund flow ที่เชื่อว่าส่วนนี้จะกลับมาปกติ โดยเฉพาะการลงทุนเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังไปได้ดีในช่วงที่ผ่านมา

"ถ้าจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะกระทบเศรษฐกิจแน่นอน โดยเฉพาะการเลือกไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีเสถียรภาพและมีความแน่นอนในนโยบาย ซึ่งเป็นหนึ่งในการตัดสินใจของนักลงทุน"

  • หอการค้าต่างประเทศหวังเห็นตั้งรัฐบาลเร็ว

นายแสตนลี่ คัง อดีตประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจับตาอยู่ และเชื่อว่านักการเมืองไทยจะได้ผลสรุปเร็ว โดยการจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องเป็นตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายไทย

ทั้งนี้นักธุรกิจต่างชาติยังคงให้ความสนใจลงทุนในไทย โดยหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมายังเห็นโอกาสการลงทุนไทยอีกมาก

ประกอบกับนโยบายด้านการลงทุนของไทยเปิดกว้างโดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า แต่มาเจอการเลือกตั้งก็ทำให้หลายอย่างต้องชะลอ แต่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้น่าจะเดินหน้าต่อ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่

“นักลงทุนจับตามองการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะจัดตั้งได้เร็วหรือไม่ เพราะหากรัฐบาลใหม่เร็ว ก็จะสร้างมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ"

โดยเฉพาะความชัดเจนนโยบายด้านเศรษฐกิจ นักลงทุนต่างชาติเข้าในสถานการณ์การเมืองไทยดีแต่ก็อยากเห็นรัฐบาลใหม่เพราะจะได้ทราบว่าเราต้องไปคุยกับใครในเรื่องของของการลงทุน

รวมทั้งปัจจุบันรัฐบาลรักษาการก็ทำอะไรมากไม่ได้ หน่วยงานราชการด้านเศรษฐกิจก็ทำหน้าที่ได้แต่ก็ไม่เต็มที่เพราะต้องรอนโยบาย เมื่อชัดเจนหน่วยงานราชการก็ทำงานได้ง่ายขึ้นและเต็มที่อย่างไรก็ตามก็ยังมั่นใจศักยภาพของประเทศไทยทั้งที่ตั้ง ความเป็นกลางไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง