‘หอการค้า’ ปลุกเชื่อมั่น 'ทุนจีน' ยันเอกชนไทยยังแกร่ง

ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนานมีถึง 4 สายความสัมพันธ์ ได้แก่ ความสัมพันธ์ด้านการทูต ความสัมพันธ์ด้านธุรกิจ 3. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม 4. ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนั่น อังอุบลกุล ระบุ ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนานมีถึง 4 สายความสัมพันธ์ ได้แก่ ความสัมพันธ์ด้านการทูต ความสัมพันธ์ด้านธุรกิจ 3. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม 4. ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

อยากให้นักลงทุนจีนมั่นใจ ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่เพราะภาคเอกชนไทยเข้มแข็งมาก เศรษฐกิจไทยขยายตัว อยากให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทำงานใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศให้เพิ่มขึ้นในทุกมิติ จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาการขยายการลงทุนของจีนมายังไทย

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ติดต่อกัน 11 ปี ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งปีที่ผ่านมาไทยส่งออกจีน 1.19 ล้านล้านบาท (2.42 แสนล้านหยวน) ในกลุ่มผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ขณะที่ไทยนำเข้าจากจีนถึง 2.49 ล้านล้านบาท (5.07 แสนล้านหยวน) ในกลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรยนต์ แม้ไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาทจากการนำเข้า แต่ก็ถือเป็นสินค้าประเภททุน (Capital Goods) ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรยนต์ และเทคโนโลยี สำหรับการต่อยอดการค้าของประเทศไทย

ที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่ขอสิทธิประโยชน์หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของไทยอย่าง BOI เป็นอันดับ 1 และมีมูลค่าสูงถึง 7.7 หมื่นล้านบาทและตั้งแต่ปี 2561- 2565 ประเทศจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ของไทยรวมทั้งสิ้นเป็นอัน 2 จากการลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ EEC ทั้งหมดและประเทศไทยพร้อมเป็นหนึ่งในพื้นที่ศักยภาพและสามารถรองรับการลงทุนตรงจากจีนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอีกด้วย

ส.อ.ท.ทรานส์ฟอร์มอุตฯ เป้าหมายดึงลงทุน

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ ปัจจุบันมีความท้าทายเกิดขึ้นมากมายในโลก การเปลี่ยนแปลงดิจิทัล เป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิต อุตสาหกรรมที่เคยแข็งแกร่งนั้นถูก ดิสรัป ,ปัญหาเทรดวอร์ ปัญหาโควิด และสงครามรัสเซีย กับยูเครนกระทบมากทำให้ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อสูง ต้องขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาการปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยเจอความท้าทาย 2 เรื่อง คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้สภาอุตสาหกรรมต้องทรานส์ฟอร์มกระบวนการผลิตทั้งหมดของประเทศ เพื่อทำให้ไทยมีความสามารถแข่งขัน สภาอุตฯได้กำหนดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 3 กลุ่ม คือ1.ธุรกิจ S-Curve 2.BCG และ 3.Climate change รวมถึงตั้งสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน เป็นหน้าต่างที่ทำให้เกิดการลงทุนร่วมกันในภาคอุตสาหกรรมใหม่ ที่ตรงกับนโยบายของจีน เป็นมิตรที่เป็นสิ่งแวดล้อม เป็นดิจิทัลและเป็นไฮเทคโนโลยี


บีโอไอยันศักยภาพไทยเหมาะเป็นฐานการผลิต

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ระบุ ไทยเป็นประเทศที่รองรับการลงทุนที่ดีที่สุดของนักลงทุนจีน เนื่องจากไทยมีจุดแข็ง จากการที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางอาเซียน มีการขนส่งสินค้าที่สะดวก,มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพที่สุดในภูมิภาค เช่น สนามบิน ท่าเรือ ถนน นิคมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม มีซัพพลายเชนที่ครบวงจร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก คือ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมิคอลส์  ซึ่งประเทศไทยมีซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพ มีบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งวิศวกร และช่างเทคนิค ฯลฯ

มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการลงทุน มีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจในการลงทุน และจากที่บริษัทต่างๆทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องของ การลดก๊าซเรือนกระจก การลดคาร์บอน ซึ่งไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมด้าน BCG มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพียงพอในการป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมต่างเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้

ประเด็นที่นักลงทุนจีนให้ความสำคัญ คือ เรื่องความปลอดภัย และ resiliency ปัจจุบันทั่วโลกเกิดความขัดแย้งกันแต่ไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทีดีกับประเทศต่างๆ ทำให้การมาตั้งฐานผลิตในประเทศสามารถทำธุรกิจหรือค้าขายกับทุกประเทศทั่วโลก ไทยไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง ไม่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ

ดังนั้นทำให้บริษัทจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยประสบความสำเร็จ 99% ของบริษัทที่เข้ามาลงทุน บริษัทจีนหลายบริษัท ที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย ไม่ใช่แค่จำหน่ายสินค้าในประเทศไทย แต่มาตั้งฐานผลิตเพื่อเป็นฐานจำหน่ายสินค้าไปทั่วโลก

ปัจจุบันประเทศไทยมี FTA จำนวน 14 ฉบับ ครอบคลุม 18 ประเทศ แต่ปัจจุบันไทยกำลังเจรจากับหลายประเทศซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมาก และอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยกำลังจะมี FTA เพิ่มเป็น 20 ฉบับ ครอบคลุม 53 ประเทศ ซึ่งจะ เป็นหัวใจสำคัญที่ใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก