โจทย์เศรษฐกิจสำคัญที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

โจทย์เศรษฐกิจสำคัญที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

สังคมไทยขณะนี้เป็นสังคมคนสูงวัย สิ้นปีที่แล้วสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 60 ปีอยู่ที่ร้อยละ 18.3 คือมีคนสูงวัยหนึ่งคนในทุกประชากรห้าคน

คนสูงวัยประเทศเรา ส่วนใหญ่ไม่มีรายได้หรือเงินออมเพียงพอที่จะดูแลตัวเอง ต้องพึ่งลูกหลานหรือภาครัฐซึ่งเป็นภาระมาก ที่สำคัญสัดส่วนนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปีถึงร้อยละ 33 หรือหนึ่งในสามในปี 2040 คืออีกสิบเจ็ดปีข้างหน้า

คำถามคือเราจะอยู่กันอย่างไรเมื่อวันนั้นมาถึง ใครจะทำงานและประเทศจะผลิตอะไรเพื่อหารายได้ นี่คือสถานการณ์ที่รออยู่ เป็นความท้าทายต่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจและสังคม เป็นปัญหาสำคัญที่รอคําตอบและควรต้องพร้อมรับมือ

นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ประเทศไทยขณะนี้พูดได้ว่ากําลังดิ้นรนอยู่กับสามเเรงกดทับที่จะชี้เป็นชี้ตายอนาคตประเทศ

เรื่องแรกคือ ภาระทางเศรษฐกิจที่มากับสังคมสูงวัยทั้งในเรื่องสวัสดิการที่ภาครัฐต้องใช้จ่ายเพื่อดูแลคนสูงวัย และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งจะกระทบการใช้ทรัพยากรการเงินการคลังของประเทศ

สอง ผลิตภาพและความสามารถในการหารายได้ของประเทศที่ต่ำ เป็นผลจากการละเลยการลงทุนและนวัตกรรมในอดีต ทำให้เศรษฐกิจไม่พร้อมและไม่มีความสามารถที่จะแข่งขันกับต่างประเทศได้เหมือนก่อน ยังติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไม่ไปไหน

โจทย์เศรษฐกิจสำคัญที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

สาม ระบบการศึกษาที่นับวันจะแย่ลงทําให้กําลังแรงงานของประเทศส่วนใหญ่มีคุณภาพไม่ดีพอและไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศอย่างที่ควรจะเป็น

นี่คือสามปัญหาที่ประเทศต้องก้าวข้าม ทั้งหมดปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากการบริหารจัดการของภาครัฐที่ไม่แก้ปัญหา ขาดวิสัยทัศน์ และธรรมาภิบาล

เฉพาะโครงสร้างประชากร ประเทศเรามีปัญหาสองเรื่องที่รุนแรงกว่าประเทศอื่น

ปัญหาแรกคือ สังคมสูงวัยที่เราเป็นประเทศสังคมสูงวัยเต็มตัวมาตั้งแต่สองปีที่แล้ว คือมีสัดส่วนประชากรอายุมากกว่าหกสิบปีถึงร้อยละ 18 แต่ระดับรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศไม่สูงพอ

คือรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 7,497 ดอลลาร์ ตํ่ากว่าประเทศสังคมสูงวัยอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นกว่าสิบเท่า ทําให้เราเป็นประเทศคนแก่ที่ไม่รวยและคนสูงวัยในประเทศต้องพึ่งคนอื่นมาก

ปัญหาที่สอง คือจํานวนประชากรของประเทศลดลง จากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง คนไม่แต่งงาน ไม่มีลูก ทําให้จํานวนเด็กเกิดใหม่ลดลงมาก

ปี 2021 เด็กเกิดใหม่มีเพียง 544,000 คน เทียบกับประมาณ 800,00 คนต่อปีช่วงสิบปีก่อนหน้า ลดลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และลดตํ่ากว่าจำนวนคนเสียชีวิตในปีเดียวกัน ทําให้โดยสุทธิจำนวนประชากรของประเทศลดลงและจะลดลงมากขึ้นๆทุกปี

ผลกระทบสำคัญทางเศรษฐกิจของประชากรลดลง คือกําลังแรงงานของประเทศจะลดลงตามไปด้วย คือมีคนน้อยลงในวัยทำงาน จะเกิดการขาดแคลนแรงงาน และถ้าความสามารถของกําลังแรงงานที่มีต่ำเช่นกรณีประเทศเรา ประเทศก็จะไม่สามารถผลิตอะไรได้มาก

กระทบการหารายได้และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น และถ้าเกิดขึ้นในสังคมสูงวัยอย่างเรา ความเป็นอยู่ของคนสูงวัยในประเทศก็จะถูกกระทบมากตามไปด้วย

โจทย์เศรษฐกิจสำคัญที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

ธนาคารโลกเคยประเมินว่าปัญหาสังคมสูงวัยและจํานวนประชากรที่ลดลงจะทำให้กําลังแรงงานของประเทศไทยจาก 38 ล้านคนในปัจจุบัน ลดลงเหลือ 23.6 ล้านคนในปี 2060 คืออีก 37 ปีข้างหน้า หายไป 14.3 ล้านคน คือเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์

คน 23.6 ล้านคนในปี 2060 ก็คือคนรุ่นหนุ่มสาวขณะนี้ที่จะมีภาระมากจากนี้ไป คือต้องทํางานสร้างฐานะเพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ต้องเลี้ยงดูประชากรสูงวัยที่จะมีจํานวนมากในประเทศ

ต้องชำระหนี้สาธารณะของประเทศที่คนรุ่นเก่าที่เกษียณอายุไปแล้วได้สร้างไว้ ล่าสุดอยู่ที่ 10.8 ล้านล้านบาท และต้องรักษาประเทศให้มั่นคง มีการเติบโตเพื่อให้ประเทศมีรายได้ เป็นภาระหน้าที่ในฐานะพลเมืองของประเทศที่หนักมาก

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่นโยบายเศรษฐกิจจากนี้ไป ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทำให้คนไทยที่จะเป็นกําลังแรงงานของประเทศในอนาคตคือ คนรุ่นหนุ่มสาวในปัจจุบันเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในทุกระดับ คือมีความรู้ความสามารถและทักษะที่แข่งขันได้กับต่างประเทศและสามารถนำประเทศไปสู่การสร้างรายได้และการเติบโตที่ยั่งยืน

สามเรื่องที่ควรต้องเร่งทำในความเห็นของผมคือ

หนึ่ง ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาของประเทศให้ทัดเทียมประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ที่ให้ความรู้ทำให้กําลังแรงงานของประเทศเก่งขึ้น รอบรู้ขึ้น และมีคุณภาพ มีทักษะตรงความต้องการของภาคธุรกิจ เก่งในการใช้เทคโนโลยี และให้ความสำคัญกับคาดหวังของนักศึกษาในแง่การมีงานทำ

ที่สำคัญมีการปรับและยกระดับทักษะกําลังแรงงานปัจจุบันให้สามารถทํางานได้ในระดับที่สูงขึ้นเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่สาขาเศรษฐกิจที่ขยายตัวและลดความไม่สมดุลในเรื่องทักษะระหว่างอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงาน

สอง ยกระดับผลิตภาพการผลิต ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมนวัตกรรม การแข่งขัน และการใช้เทคโนโลยี

โจทย์เศรษฐกิจสำคัญที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่เป็นฐานรายได้หลักของคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยปรับปรุงระบบชลประทาน แก้ปัญหานํ้าท่วมน้ำแล้งอย่างถาวร ปฏิรูปการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งหมดเพื่อให้ภาคเกษตรไทยสามารถพัฒนาเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลกในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารตามศักยภาพที่ภาคเกษตรของประเทศมีและสามารถทําได้

สาม ปรับปรุงหรือปฏิรูปการทํางานของระบบราชการเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องแนวคิด กฏระเบียบ ระบบการทํางาน การใช้เทคโนโลยี ความโปร่งใส และธรรมาภิบาล

เพราะการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหรือไม่เกิดขึ้น ถ้ากลไกระบบราชการไม่ร่วมมือ ไม่พร้อมสนับสนุน และไม่พร้อมขับเคลื่อน

นี่คือโจทย์เศรษฐกิจสำคัญที่รออยู่

โจทย์เศรษฐกิจสำคัญที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]