เวิลด์แบงก์แนะไทยเพิ่มรายได้หาเงินดูแลสังคมสูงวัย

เวิลด์แบงก์แนะไทยเพิ่มรายได้หาเงินดูแลสังคมสูงวัย

เวิลด์แบงก์ชี้ ไทยต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ในระยะยาวเพื่อตอบสนองการใช้จ่ายสาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นจากประชากรสูงอายุ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างถึงรายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายสาธารณะของไทยเผยแพร่โดยธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลสำหรับบำนาญ การดูแลสุขภาพ การศึกษา การปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องเพิ่มขึ้น และต้องทำให้ได้โดยไม่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับควบคุมหนี้สาธารณะให้ได้

“ประเทศไทยสามารถบรรลุเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและยืดหยุ่นได้มากขึ้นด้วยการปรับปรุงการใช้จ่ายของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มรายได้  ปฏิบัตินโยบายเพื่อสนับสนุนกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดและรับมือความท้าทายอันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศ” นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการเวิลด์แบงก์ประจำประเทศไทยกล่าว

ในโอกาสนี้ เวิลด์แบงก์แนะนำชุดมาตรการปฏิรูปภาษีก้าวหน้าที่สามารถเพิ่มรายได้ 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเลิกการยกเว้นภาษี ขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปรับปรุงค่าลดหย่อนและส่วนลด ขยายการจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์

“หากค่อยๆ ทำไปในช่วงเวลาที่เหลือของทศวรรษนี้ การปฏิรูปดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมความเท่าเทียม พร้อมๆ กับสร้างรายได้สำหรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบด้านลบที่มีต่อคนจนสามารถทดแทนได้ด้วยการปฏิรูปความช่วยเหลือทางสังคม ขณะเดียวกันรายได้สุทธิยังเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนได้”

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะไทย เพิ่มขึ้นจากราว 40% ช่วงก่อนโควิดมาอยู่ที่กว่า 60% หลังจากรัฐบาลเพิ่มการกู้ยืมมารับมือการระบาดของโควิด-19 และใช้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะไทยอาจเพิ่มขึ้นได้อีกเมื่อแนวร่วมพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ด้วยนโยบายลดแลกแจกแถม อาจจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพิ่มมาทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้

เวิลด์แบงก์กล่าวด้วยว่า แม้หนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องรับมือโควิด แต่ความเสี่ยงทางการคลังโดยรวมยังจัดการได้ ในระยะใกล้รัฐบาลสามารถเพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานและเรื่องอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญด้วยการดึงการใช้จ่ายส่วนอื่นเข้ามา