สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน : การเดินหน้าของประเทศไทย

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน : การเดินหน้าของประเทศไทย

จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ประเทศไทยได้อานิสงค์ในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่อานิสงค์ในตลาดจีนยังมีจำกัด

ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐ โดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียนยกเว้นเพียงเวียดนาม สินค้าไทยที่สามารถเข้าตลาดสหรัฐได้มากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยเป็นคู่แข่งกับจีนในตลาดสหรัฐ ทำให้ง่ายต่อสหรัฐในการเปลี่ยนคู่ค้า

อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนแบ่งตลาดของเครื่องปรับอากาศ กล้องบันทึกภาพ  ตู้เย็นและฮาร์ดดิสก์ ที่ส่งออกจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน (ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่สหรัฐลดการนำเข้าจากจีนอย่างมีนัย)

ในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ การส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (Photosensitive semiconductor)  และวงจรอิเล็กทรอนิกส์อื่น (เช่น image sensor, temperature sensor) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน  สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ การขึ้นภาษีของสหรัฐในหลายสินค้าจากจีน มีส่วนทำให้ส่วนแบ่งตลาดของชิ้นส่วนรถยนต์ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น REM) จากไทยเพิ่มขึ้น

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน : การเดินหน้าของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ด้วยธรรมชาติของการส่งออกรถยนต์นั่ง ซึ่งมีการซื้อขายส่วนใหญ่เป็นโซน จึงมีเพียงรถแทรกเตอร์ (HS8701) และรถจักรยานยนต์ (HS8711) ที่สามารถขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐได้   ในส่วนของสินค้าเกษตรและอาหารไทยยังไม่สามารถเจาะตลาดสหรัฐได้เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าสหรัฐลดการนำเข้าจากจีนอย่างชัดเจน

เวียดนามและมาเลเซีย ขยายส่วนแบ่งตลาดในจีนได้ดีกว่าประเทศไทยในสินค้าอุตสาหกรรม  โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์) รวมทั้งสินค้าสำเร็จรูปบางประเภท เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ 

การขยายตัวดังกล่าวสืบเนื่องจากการย้ายฐานการลงทุน และการขยายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติ (และนักลงทุนจีน)  อย่างไรก็ตาม มีบางสินค้าที่ไทยขยายส่วนแบ่งตลาดในจีนได้ชัดเจน อาทิ รถจักรยานยนต์สันดาป

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน : การเดินหน้าของประเทศไทย

ถึงแม้ความต้องการจักรยานยนต์ไฟฟ้าในจีนจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเพิ่มขึ้นช้ากว่ารถยนต์อย่างมาก (โดยความต้องการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21 ระหว่างปี ค.ศ. 2018-22 ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 160) 

ดังนั้น ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรถจักรยานยนต์สันดาปลำดับต้นๆในโลก (ลำดับที่ 4 รองจากจีน เยอรมันนีและญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 2022)   จึงยังมีส่วนแบ่งตลาดของรถจักรยานยนต์สันดาปเพิ่มขึ้นในจีน (จากร้อยละ 30 ในปี ค.ศ. 2018 เป็นร้อยละ 61 ในปี ค.ศ. 2022)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไทยได้ประโยชน์จากสงครามการค้าในตลาดสหรัฐและบางสินค้าในประเทศจีน แต่เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งในตลาดโลก ประเทศไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลงในช่วงปี 2018-2022 (ตารางที่ 1)  

ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียน-5 ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลงสำหรับสินค้าอุตสาหกรรม  ซึ่งการลดลงเกิดขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้าอุตสาหกรรม

รวมถึงหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (HS84-85) ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่ไทยส่งออกได้มากที่สุด (ประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกรวมของไทย)  

นั่นหมายถึงโดยรวมการขยายการส่งออกไปสหรัฐ ยังไม่มากพอที่จะดึงให้ไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดโลกได้

จากข้อเท็จจริงที่ส่วนแบ่งตลาดโลกโดยรวมลดลง (และปริมาณเม็ดเงินลงทุนยังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านภายหลังสงครามการค้า) คงสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศยังคงต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อรักษา/เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก  

การเดินหน้าคงต้องทำทั้งสองส่วนหลัก  ส่วนแรกคือ การพยายามกระจายตลาด หาตลาดใหม่ เพื่อไม่ให้การส่งออกกระจุกตัวในตลาดสหรัฐมากเกินไป เนื่องจากสหรัฐจะหันมาซื้อสินค้าไทยมากขึ้น เฉพาะสินค้าที่ไทยกับจีนเป็นคู่แข่งกันในตลาดสหรัฐเท่านั้น

ขณะที่การเจาะตลาดอื่น ๆ ยังทำได้จำกัด เนื่องจากหลายประเทศมีความได้เปรียบ ทั้งด้านโลจิสติกส์และต้นทุนมากกว่าไทย โดยเฉพาะประเทศที่มีแต้มต่อจากการมี FTA กับสหรัฐ

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน : การเดินหน้าของประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดโลกได้ดี และเร่งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดทั้งในตลาดอาเซียน เอเชียตะวันออก (เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) เอเชียใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง

ดังนั้น ไทยต้องยกระดับขีดความสามารถในการผลิตควบคู่กับการส่งเสริมการตลาดไปพร้อม ๆ กัน โดยจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงหรือหน่วยงาน ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาคการผลิตของประเทศ

อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ  เพื่อการประสานงานและการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำร่วมกัน 

ด้านการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 และเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านการให้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ

อีกทั้งยังส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตภายในประเทศให้มีความพร้อมมากขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินนโยบายอาจเห็นผลช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้  

การดำเนินโยบายให้มีประสิทธิภาพ ส่วนสำคัญหลัก คือ นโยบายต้องชัดเจน ต่อเนื่อง และรัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่ดีในการดำเนินนโยบายดังกล่าว

โดยมีประเด็นที่ไทยยังสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน อาทิ

(1) การพัฒนากำลังคน การร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในการพัฒนากำลังคน เป็นประเด็นสำคัญมากต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนที่มีคุณภาพ (quality investment)

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน : การเดินหน้าของประเทศไทย

อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology spillover) ที่ประเทศผู้รับการลงทุนควรสร้างให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่นโยบายที่ทับซ้อนของแต่ละภาคส่วนโดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับการอบรมเพิ่มทักษะ (upskill, reskill) รวมทั้งความไม่สามารถ scale up โครงการที่มีประสิทธิผล

เช่น โครงการสร้างกำลังคนของจิตรลดา หรือสัตหีบโมเดล และความร่วมมือที่ยังจำกัดกับภาคเอกชน ทำให้การพัฒนากำลังคนยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนมากนัก ความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และการพยายาม scale up โครงการที่มีประสิทธิผลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรเร่งดำเนินการ

 (2) การลดความสลับซับซ้อนของกฎระเบียบ มาตรการ และขบวนการต่างๆ  เช่น  มาตรการส่งเสริมการลงทุน ปัจจุบันไทยให้แรงจูงใจทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ในการเพิ่มหรือขยายการลงทุน ซึ่งจะอยู่ที่สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม (Merit-based incentives) นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากแต่ละกิจการ (Activity-based incentives)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม มีมาตรการเพิ่มเติมมากกว่า 10 มาตรการ อาทิ มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นต้น

แต่ละมาตรการมีความทับซ้อนกันอยู่ และความพยายามปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนเพื่อเปิดทางเลือกให้กับนักลงทุนที่มีหลากหลาย อาจสร้างความสับสนต่อนักลงทุน

เนื่องจากแต่ละมาตรการมีการให้สิทธิประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่  หรือการลดขั้นตอนเอกสารสำหรับผู้ขอส่งเสริมการลงทุนเพื่อเร่งกระบวนการอนุมัติ ออกบัตร และก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นจริง  เป็นต้น

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และนัยต่อเศรษฐกิจการค้าไทย ซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่างสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์