กูรู ฟันธง ล้มดอลลาร์ยาก แต่ ‘ระบบสกุลเงิน 3 ขั้ว’ อาจเป็นไปได้

กูรู ฟันธง ล้มดอลลาร์ยาก แต่ ‘ระบบสกุลเงิน 3 ขั้ว’ อาจเป็นไปได้

รายงานจาก “เจพีมอร์แกน” เผย หยวนไม่สามารถแทนที่ดอลลาร์ได้ จากทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ด้าน “ซีอีโอ” ยูริซอน เอสเอลเจ บริษัทเพื่อการลงทุนสัญชาติอังกฤษ เผย “ระบบสกุลเงิน 3 ขั้ว” อาจเกิดขึ้นได้

  • ในอนาคตอันใกล้ทั้งโลกจะได้เห็นการเสื่อมถอยลงของสกุลเงินดอลลาร์
  • หยวนไม่สามารถแทนที่สกุลเงินดอลลาร์ได้
  • สตีเฟน เจน  ซีอีโอ ยูริซอน เอสเอลเจ บริษัทเพื่อการลงทุนสัญชาติอังกฤษเผย “ระบบสกุลเงิน 3 ขั้ว” อาจเกิดขึ้นได้คือ ดอลลาร์ หยวน และ ยูโร

ข้อมูลของเจพีมอร์แกน เปิดเผยว่า ในอนาคตอันใกล้ทั้งโลกจะได้เห็นการเสื่อมถอยลงของสกุลเงินดอลลาร์ จากการลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์ (De-dollarization) บางส่วนของเศรษฐกิจโลก ทว่าทั้งหมดไม่ได้หมายความว่า “หยวน” จะเข้ามาแทนที่สกุลเงินดังกล่าวได้

โดยนักยุทธศาสตร์ของเจพีมอร์แกน อธิบายเพิ่มเติมในรายงานว่า แม้ในกรณีที่เศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าสหรัฐก็ยังไม่มีความเป็นไปได้ที่สกุลเงินดอลลาร์จะได้รับผลกระทบดังกล่าว และประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ย้อนกลับไปในอดีต ตอนที่สหรัฐแซงหน้าบริเตนใหญ่ (Great Britain) ในฐานะเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงหลังของศตวรรษที่ 19 ทว่าโดยทั่วไป ดอลลาร์ก็เริ่มเป็นที่รับรู้กันว่าจะแซงหน้าเงินปอนด์ของอังกฤษในฐานะสกุลเงินสำรองสำคัญของโลก เพียงช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น”

"ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นแล้วว่า หากจีนแซงหน้าสหรัฐในฐานะเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณปี 2573 เงินดอลลาร์ก็อาจยังคงสถานะอันดับ 1 อยู่แม้ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว”

ยิ่งไปกว่านั้น เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจีนผ่อนคลายการควบคุมเงินทุนซึ่งบรรดานักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ บรรดานักยุทธศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า การลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์ในอัตราส่วนเล็กน้อยอาจเกิดขึ้นได้ และอาจเร่งตัวขึ้นทั้งจากความเชื่อมั่นในสกุลเงินดังกล่าวที่ลดลง และพัฒนาการในเชิงบวกของประเทศนอกสหรัฐที่หนุนความน่าเชื่อถือของสกุลเงินเหล่านั้น

โดยข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่าส่วนแบ่งเงินสำรองเงินตราต่างประเทศของดอลลาร์ลดลงจาก 73% ในปี 2544 เป็น 58% ในปี 2565 ในช่วงนั้น ส่วนแบ่งของเงินหยวนเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5%

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเจพีมอร์แกน ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการจัดสรรพอร์ตการลงทุนก็ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ เจพีมอร์แกนยืนยันว่า จีนนับเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งเพียงรายเดียวของสหรัฐในระยะยาว แต่ด้วยสถานะของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และปัจจัยอื่นๆ ของสหรัฐ จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่สกุลเงินหยวนของจีนจะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์ของมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกได้

ด้าน สตีเฟน เจน (Stephen Jen) นักเศรษฐศาสตร์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของยูริซอน เอสเอลเจ (Eurizon SLJ) บริษัทเพื่อการลงทุนสัญชาติอังกฤษ คาดการณ์ว่าระบบสกุลเงิน "สามขั้ว" อาจเกิดขึ้นในที่สุด โดยที่เงินดอลลาร์จะเป็นสกุลเงินที่มีอิทธิพลมากที่สุด ควบคู่ไปกับอีกสองสกุลเงินรอง

"ถ้าผมต้องเดา มันควรจะเป็น ยูโร และหยวนที่มีสถานะใกล้เคียงกัน และผมมองการมีสกุลเงินสำรองแบบสามขั้วดูสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันมากกว่า”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์