เปิดแผน OR-EA-TPIPP ติดเครื่องเร่งสปีด “ธุรกิจใหม่”

เปิดแผน	OR-EA-TPIPP ติดเครื่องเร่งสปีด “ธุรกิจใหม่”

“โออาร์” ไม่หวั่นแม้ธุรกิจน้ำมันโดนดิสรัป เปิดปั๊มสีเขียว พร้อมสินค้า “เฮลท์ แอนด์ เวลเนส” รับไลฟ์สไตล์ลูกค้า “ทีพีไอพีพี” ปรับแผนรับแอดเดอร์หมดอายุ ชี้ไม่กระทบรายได้ “อีเอ” ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ โตกว่า 50% ปัจจัยอีวีหนุน อัพกำลังผลิตโรงงานแบตเป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง

กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา “Investment Forum : New Chapter, New Opportunity” เป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญมานำเสนอทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ได้รับปัจจัยเสี่ยงจากหลายประเด็นที่ภาคธุรกิจต้องวางแผนเพื่อรับมือ

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวใน“ล้วงลึก หุ้นมหาชน แผนธุรกิจรับบริบทใหม่ประเทศไทย”ว่า กลยุทธทิศทางธุรกิจของโออาร์ตามวิสัยทัศน์โออาร์ “Empowering All toward Inclusive Growth” หรือ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” โดยมี 4 พันธกิจหลัก คือ 

1.Mobility 2.Lifesyle 3.Global และ 4.Innovation จะสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อสอดรับแนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคตนำออนไลน์และออฟไลน์มาผลักดันโออาร์ ก้าวสู่ดิจิทัลแฟลตฟอร์ม

ทั้งนี้ โออาร์ สนับสนุนเอสเอ็มอีมาตลอด โดยกระจายรายได้ผู้ธุรกิจรายย่อย ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการผนึกกำลังของธุรกิจทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม ปตท.และยังมีอีโคซิสเต็มเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน SDG ประกอบด้วย 

1. S:SMALL โอกาสเพื่อคนตัวเล็กผ่านการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนตามเป้าหมาย 1.5 หมื่นชุมชน

เปิดแผน	OR-EA-TPIPP ติดเครื่องเร่งสปีด “ธุรกิจใหม่”

2. D:DIVERSIFIED โอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ ผ่านศักยภาพของ OR ที่จะเป็น Platform ในการกระจายโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายและครอบคลุม พร้อมเติบโตไปด้วยกัน สามารถกระจายรายได้ไปสู่ประชาชน 1 ล้านราย 

3. G:GREEN โอกาสเพื่อสังคมสะอาดผ่านการส่งเสริม ธุรกิจทุกประเภทของ OR ให้เป็นธุรกิจสีเขียว เพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ อย่างยั่งยืน

“ทิศทางโออาร์ระยะสั้นส่งเสริมผู้ที่อาจไม่เข้าถึงตลาดได้หรือคนตัวเล็ก โดยได้ลงพื้นที่คุยกับชาวเขาที่ทำไร่เลื่อนลอยและเผาป่า เพื่อเปลี่ยนเป็นการปลูกผัก ส่วนผลไม้จะรับมากระจายสู่ตลาด”

สำหรับการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ ได้เตรียมเปิดสถานีบริการน้ำมันสีเขียวที่วิภาวดี 62 ในอีก 2 เดือน ใหญ่สุดในไทย โดยนำพลังงานสะอาดจากบริษัทในเครือ ปตท.มาใช้ อีกทั้งมีผลิตภัณฑ์ทั้งแก้ว ขวดน้ำ ที่ผ่านการรีไซเคิลขึ้นรูปใหม่ โดยจากการสำรวจพบว่าลูกค้า 60% เน้นทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ได้แค่เต็มน้ำมันอย่างเดียว

“โออาร์”ทรานส์ฟอร์มธุรกิจใหม่

ทั้งนี้ ธุรกิจบริการน้ำมันได้ถูกดริสรัป ซึ่งอีก 5-10 ปี การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะมากขึ้นหลังจากเติบโตเร็ว ดังนั้น โออาร์ได้ทรานฟอร์มธุรกิจและตั้งเป้า EBITDA 70% จะมาจากไลฟ์สไตล์ โดยมีเป้าหมายติดตั้งหัวจาร์จ 1 หมื่นหัวทั่วประเทศ เพราะสถานีโออาร์เข้าถึงง่ายสุดและอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเฮลท์ แอนด์ เวลเนสมากขึ้น

นอกจากนี้ จากการที่กลุ่ม ปตท.มีธุรกิจในเครือจำนวนมาก จึงมีแผนจะทำแอพพลิเคชั่นใช้ร่วมกันอาจเรียกว่า ซูเปอร์แอพ ซึ่งโออาร์มีสมาชิก บลูการ์ด 8 ล้านราย จะนำข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ ร่วมกันโดยนำเอาผลิตภัณฑ์กลุ่ม ปตท.มาขาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่สุดท้ายต้องดูแลสังคมและชุมชน

“จากการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ราคาน้ำมันดิบดูไบผันผวน ปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปีนี้ระดับ 70 ดอลลาร์ ดังนั้น ในอนาคต EBITDA จะไม่มาจากธุรกิจเดิม โดยต้องขยายธุรกิจไปต่างประเทศ อาทิ กัมพูชา ซึ่งจะเอาผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันเกือบ 200 สถานี เพราะอีก 2 ปี จะมีการเติบโตมาก”

“ทีพีไอพีพี”ตั้งเป้าผลิตไฟสะอาด100%

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าจากขยะขนาดใหญ่สุดในอาเซียน และเป็นโรงงานกำจัดขยะใหญ่ที่สุดในโลก โดยมี 2 ธุรกิจหลัก คือ โรงไฟฟ้า และสถานีบริการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีโรงไฟฟ้ารวม 8 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 440 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 โรงไฟฟ้าแห่งที่ 1 และโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ไม่มีการปล่อบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง

ทั้งนี้ โลกมีเมกะเทรนด์ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้บริษัทเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าขยะ โดยแบ่งเป็น 6 เฟส เสร็จแล้ว 2 เฟส ส่วนเฟส 3-6 เสร็จกลางปี 2568 และปี 2569 จะมีโรงไฟฟ้า 8 แห่ง ผลิตจากพลังงานสะอาด 582 เมกะวัตต์

เปิดแผน	OR-EA-TPIPP ติดเครื่องเร่งสปีด “ธุรกิจใหม่”

“การแบ่งขายไฟฟ้าให้บริษัทแม่ เป็นราคาเดียวที่บริษัทแม่ซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกส่วนขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และเมื่อค่าไฟฟ้าผันแปรช่วงปีที่ผ่านมาปรับขึ้น ได้ร้บค่าไฟเพิ่มขึ้นเช่นกัน ถือว่าได้ฟรีจากรัฐบาลเพราะใช้ขยะ แม้ว่าจะมีแอดเดอร์ที่ใกล้หมดสัญญาอาจกระทบรายได้แต่เราจะบริการจัดการต้นทุนเพื่อให้รายได้คงที่หรือมากกว่าเดิม”

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทรับขยะเฉลี่ย 8,500 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 2.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งช่วยลดคาร์บอนจากการฝังกลบได้ 5.8 ล้านตันต่อปี นโยบาย Net Zero ที่ไทยตั้งเป้าลดคาร์บอนได้ปีละ 115 ล้านตันตันนั้น และคาดว่าจะขยายการรับขยะเฉลี่ยต่อวันเพิ่มเป็น 17,000 ตันต่อวันในปี 2569 ซึ่งบริษัทไม่เหลือปริมาณคาร์บอนเลย และลดการเกิดก๊าซมีเทน สามารถลดปริมาณคาร์บอนได้ถึง 7.5 ล้านตันต่อปี ถือว่าเกินจำนวน Net Zero แล้วที่ 6 ล้านตันต่อปี และมองว่าปี 2569 ทั้งปีจะลดคาร์บอนได้ถึง 12 ล้านตันต่อปี

“ทวีปยุโรปซื้อ-ขายในตลาดคาร์บอน ราคาอยู่ที่ 90 ยูโรต่อตันคาร์บอน ส่วนจีนซื้อ-ขาย ในตลาดคาร์บอนราคาที่ 7 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน ซึ่งไม่ใช่ตลาดที่แปลกใหม่ เพราะประเทศพัฒนาแล้วดำเนินการเช่นกัน เพราะฉะนั้นไทยก็ควรมีและไม่ควรรอช้า”

“อีเอ”มั่นใจ“อีวี”โตก้าวกระโดด

นายวสุ กลมเกลี้ยง Executive Vice President บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า การดึงโอกาสที่มีอยูในตลาดทั้งในวิกฤติโรคภัย ฝุ่น PM2.5 มาทำให้โลกเปลี่ยนนั้น คือ คนปัจจุบันคำนึงถึงนโยบาย ESG มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาในตลาดทุนเช่นกัน อีกทั้งหากสุดท้ายมีภาษีคาร์บอนเกิดขึ้นจะต้องทรานฟอร์มเมชั่น

ทั้งนี้ ไทยผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ 3 ของโลก และผลิตกรีนดีเซลได้สามารถใช้ทดแทนเพื่อลดคาร์บอน และจะเห็นว่าโรงไฟฟ้าเดิมที่ใช้ถ่านหินจะเปลี่ยนเป็นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้เริ่มทำแล้ว ส่วนตัวแบตเตอรี่ช่วงนี้หากนำมาใช้เพื่อเก็บไฟจะไม่คุ้มทุน ดังนั้น มองว่าการทำยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเป็นทางออกที่ดีกว่า

เปิดแผน	OR-EA-TPIPP ติดเครื่องเร่งสปีด “ธุรกิจใหม่”

รวมทั้ง ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา อีวีเติบโตก้าวกระโดด จึงเป็นโอกาสที่เริ่มจากต้นน้ำด้วยการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ โรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถบัส รถบรรทุก หรือแม้แต่ติดตั้งสถานีชาร์จรถอีวี ปัจจุบันมี 400 จุด และมากกว่า 4,000 หัวชาร์จ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แม้ตลาดยังไม่ใหญแต่เพียงพอเดินหน้าต่อได้ อีกทั้งพัฒนา อี สมาร์ทเฟอร์รารี่ อีวีบัส ที่ส่งมอบแล้ว 2 พันคัน และกำลังทดสอบหัวรถจักรกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

“จะขยายโรงงานแบตเตอรี่จากขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง เป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง ตามเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยใช้แบตเตอรี่ LFP เพื่อตอบสนองตลาด โดยตัวรถปัจจุบัน 3,000 คัน เราเป็นโรงผลิตรถไม่ได้ประกอบรถ ใหญ่สุดในอาเซียน ปลายปีนี้จะเห็นโลจิสติกส์หลายบริษัทเอาทรัคเราไปใช้”

รวมทั้งอยู่ระหว่างพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อเชื่อมต่อการใช้งานทั้ง รถ เรือและราง โดย 3 ปี มีรายได้โต 34% ถือว่าเติบโต 1.85 เท่า ซึ่งมาจาก อีวี อีโคซิสเต็ม และเป้าหมายปีนี้โตมากกว่า 50% เมื่อเทียบปี 2565 ถือเป็นปีที่เติบโตเป็นประวัตศาสตร์ ส่วนปีถัดไปพยายามสร้างสมดุลของพอร์ต โดยปลายปีนี้จะเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดและปีนี้คาดว่าจะใช้งบลงทุน 1 หมื่นล้านบาท