รัฐบาลใหม่เสี่ยงโดนฟ้อง หากรื้อมติบอร์ด ตั้ง 'ผู้ว่าฯ กฟผ.'

รัฐบาลใหม่เสี่ยงโดนฟ้อง หากรื้อมติบอร์ด ตั้ง 'ผู้ว่าฯ กฟผ.'

อีกโจทย์สำคัญของรัฐบาลใหม่ ที่ต้องคิดหนักกับตำแหน่งผู้ว่าฯ กฟผ. วงในชี้ หากคิดจะรื้อกระบวนการสรรหาใหม่ มีความเสี่ยงสูงที่จะ "โดนฟ้อง"

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้มีการพิจารณามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการถึงการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการกฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16) แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ.ปัจจุบันที่จะครบวาระในวันที่ 21 ส.ค.2566 ถือเป็นไปตามกระบวนการ หากกกต. เห็นว่าให้รอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาก็ไม่ผิดอะไร เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลรักษาการจะต้องขอความเห็นจากกกต.ทุกกรณี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการสรรหาผู้ว่าการกฟผ. ไม่เคยมีปัญหาเหมือนครั้งนี้เลย เพราะกระบวนการสรรหาผ่านขั้นตอนการสรรหาโดยมีนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กรรมการกฟผ. เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 โดยกรรมการส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนให้นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ลองลงมาเป็น นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 คน ต้องผ่านคณะอนุกรรมการเจรจาค่าตอบแทน เพื่อเจรจาค่าตอบแทนที่จะได้รับ ตามหลักต้องเจรจาต่อรองกับอันดับที่ 1 ก่อน หากไม่สามารถตกลงได้ถึงจะเจรจากับอันดับที่ 2 ซึ่งปรากฎว่าการเจรจาต่อรองเรื่องค่าตอบแทนสามารถตกลงกันได้ ในอับดับที่ 1 เท่ากับว่า นายเทพรัตน์ ยอมรับผลการเจรจาค่าตอบแทน ซึ่งบอร์ดกฟผ.จึงไม่จำเป็นจะต้องโหวตแต่อย่างใด เพราะมีกระบวนการทุกขั้นตอน ก่อนเข้าบอร์ดกฟผ. 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทุกการสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ. มีขั้นมีตอนโปร่งใสมาโดยตลอด อีกสิ่งสำคัญคือ จะต้องปฏิบัติตามสคร.ตามขั้นตอน ก่อนที่บอร์ดกฟผ.จะพิจารณา ซึ่งต้องผ่านกระบวนการใน 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องของกระบวนการสรรหโดยคณะกรรมการสรรหาฯ ที่พิจรณาคุณสมบัติผู้ที่มีความเหมาะสม ส่วนที่สอง จะต้องผ่านคุณะอนุกรรมการเจรจาค่าตอบแทน ตามเงื่อนไขของ สคร.

"คณะกรรมการบอร์ดกฟผ. ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ก็ได้มีมติเห็นชอบ วันที่ 8 มี.ค. 2566 เลือกนายเทพรัตน์ ตามที่คณะกรรมการสรหาเสนอ ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงไม่ยอมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในตอนที่ยังมีอำนาจเต็มแต่กลับยืดระยะเวลามานำเสนอในช่วงที่เป็นครม.รักษาการ"     

แหล่งข่าว กล่าวว่า  จากกรณีดังกล่าวหลายฝ่ายยังคงมีความกังวลว่ารัฐบาลใหม่ อาจกังวลว่าการสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ. จะมีปัญหาหรือไม่ ทำไม่ไม่ยอมเสนอชื่อตั้งแต่ตอนเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม และอาจจะรื้อให้มีการสรรหาใหม่นั้น หากมองในอำนาจหน้าที่ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องมีเหตุผลที่เพียงพอ เช่น นายเทพรัตน์ เกี่ยวข้องกับการทุจริตโดยมิชอบในอำนาจ หรือวุฒิภาวะและความสามารถไม่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมานายเทพรัตน์ถือเป็นลูกหม้อกฟผ. มีคุณสมบัติที่มากพอและบริหารงานด้วยดีมาโดยตลอด ดังนั้น ส่วนตัวมองว่า หากรัฐบาลใหม่โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานท่านใหม่จะสั่งให้มีการสรรหาใหม่อาจจะเสี่ยงต่อการโดนฟ้องร้องได้ 

"หากรัฐบาลใหม่ไม่สามารถจัดตั้งได้ก่อนที่ผู้ว่าฯ กฟผ. ท่านปัจจุบันจะหมดวาระ และหากกินระยะยาวเกินไประดับ 2-3 เดือน ตนเห็นว่ารัฐบาลรักษาการอาจจะต้องขอความเห็นจากกกต. อีกครั้ง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะโดยระเบียบแล้วผู้ที่รักษาการผู้ว่าฯ กฟผ. จะมีอำนาจบางอย่างที่สามารถอนุมัติได้และบางอย่างก็ไม่สามารถอนุมัติได้" 

อนึ่ง สำหรับการสรรหาผู้ว่าฯ กฟผ.ครั้งนี้ดำเนินการตามข้อบังคับ กฟผ.ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ คณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทนของผู้ว่าการ และคณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ว่า ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.2563

ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ กำหนดให้มีการสรรหาผู้ว่าการอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ว่าการ

ข้อกำหนดดังกล่าวได้ระบุถึงความเป็นอิสระ โดยครอบคลุมการแสดงความเห็นหรือรายงานอย่างเป็นอิสระตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ใดๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือตำแหน่ง หน้าที่ และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ และไม่มีสถานการณ์ๆ ที่สามารถบังคับให้ไม่แสดงความเห็นตามที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ ต้องดำเนินการให้มีการแต่งตั้งและจ้างผู้ว่าการให้เสร็จภายใน 1 ปี นับจากวันที่ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง